Thesis

วงโปงลาง : วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ : โดย นาย ภราดร สาขามุละ
ดนตรีนิพนธ์ฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาหลักการเขียนดนตรีนิพนธ์ตามหลักสูตร
ปริญญาตรีสาขาดนตรีไทย ภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์
สถาบันราชภัฏจันทรเกษม พ.ศ. 2541

ดนตรีนิพนธ์ เรื่อง วงโปงลาง : วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์

นาย ภราดร สาขามุละ
ผู้วิจัย

ผู้ช่วยศาสาตราจารย์วิเชียร อ่อนละมูล ป.ม.ช. กศ.บ.
กรรมการควบคุมดนตรีนิพนธ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชา เชาว์ศิลป์ ค.บ. ศศม.
กรรการควบคุมดนตรีนิพนธ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จันทร์พร นวลแพ่ง ค.บ. ศศม.
ประธานกรรมการควบคุมดนตรีนิพนธ์

กิตติกรรมประกาศ

ดนตรีนิพนธ์ฉบับนี้สำเร็จได้ด้วยดีเพราะได้รับคำแนะนำ ความช่วยเหลือและความร่วมมือจากผู้ที่มีพระคุณหลายฝ่าย ผู้ศึกษารู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาของทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง ขอกราบขอบพระคุณบิดา มารดา ที่ให้ความอุปการะในด้านการเงินและกำลังใจให้ผู้ศึกษาทำดนตรีนิพนธ์ด้วยความราบรื่นจนสำเร็จขอกราบขอบพระคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์จันทร์พร นวลแพ่ง ประธานกรรมการควบคุมดนตรีนิพนธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชา เชาว์ศิลป์ กรรมการควบคุมดนตรีนิพนธ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชียร อ่อนละมูล กรรมการควบคุมดนตรีนิพนธ์ขอขอบพระคุณอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี อาจารย์ทองคำ ไทยกล้า อาจารย์ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์ อาจารย์นิตยา รังเสนา อาจารย์ราชันย์ ฉายรัศมี คุณจันทนา โกศลศาสตร์ ที่ให้ข้อมูลในทุก ๆ ด้านด้วยความเมตตา กรุณาเป็นอย่างยิ่งขอขอบคุณเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในภาควิชาดนตรีไทย สถาบันราชภัฎจันทรเกษมทุกคน ที่ให้คำปรึกษา เป็นกำลังใจด้วยดีตลอดมาคุณค่าและประโยชน์ใด ๆอันพึงมีจากดนตรีนิพนธ์นี้ ผู้ศึกษาขอมอบเป็นกตัญญูกตเวทิตาแด่ คุณพ่อสมนึก สาขามุละ คุณแม่สุพัตรา อังคมาตย์ตลอดจนคณะครูอาจารย์และผู้มีพระคุณทุกท่าน

ภราดร สาขามุละ

สารบัญ                                                               เรื่อง                                                                 หน้า
บทที่ 1 บทนำ 1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา                                                           1
วัตถุประสงค์ของการศึกษา                                                                                                          4
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ                                                                                                          5
ขอบเขตของการศึกษาวิจัย                                                                                                         5
วิธีการดำเนินการวิจัย                                                                                                                   5
ข้อตกลงเบื้องต้น                                                                                                                         5
ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย                                                                                                  6
เอกสารที่เกี่ยวข้อง                                                                                                                      6
บทที่ 2 ประวัติและความเป็นมาของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์                                                7
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์                                                              8
สาขาวิชาที่เปิดสอน วิชาปฏิบัติศิลป์ (วิชาเอก)                                                                         8
สาขาวิชาที่เปิดสอน วิชาเลือก ปฏิบัติศิลป์ (วิชาโท)                                                                8
เขตความรับผิดชอบของการศึกษา                                                                                            9
ลักษณะของเพลงพื้นบ้านอีสานทั่วไป                                                                                     10
เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ใช้ในวงดนตรีโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์                       11
หลักการสอนในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์                                                                            22
ขั้นตอนในการสอนในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์                                                                   23
การถ่ายทอดเพลงในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์                                                                   24
จุดประสงค์การจัดตั้งชมรมดนตรีพื้นบ้านอีสานวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์                            24
จำนวนนักศึกษาในแต่ละชั้นปีในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์                                                 25
ค่าใช้จ่ายในการแสดง                                                                                                              25
ผลสัมฤทธิ์ขั้นต่ำ                                                                                                                      25
ลักษณะกลุ่มเพลงที่ใช้ในการบรรเลง                                                                                     27
– กลุ่มเพลงจังหวะช้า                                                                                                              28
– กลุ่มเพลงจังหวะปานกลาง                                                                                                   28
– กลุ่มเพลงจังหวะเร็ว                                                                                                              28
การจัดลำดับเพลงในวงโปงลาง                                                                                             28
หน้าที่หลักของเครื่องดนตรีแต่ละประเภท                                                                             30
ลักษณะการบรรเลงเพลง                                                                                                        36
ลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านอีสาน                                                                                      38
วิธีการเรียนการสอนการบรรเลงรวมวงในวงวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์                                38
– วิธีการสอนทฤษฏี                                                                                                                  39
– วิธีการสอนปฏิบัติ                                                                                                                  40
ลักษณะการถ่ายทอด และการบรรเลงเพลงเดี่ยว                                                                   42
การรับศิษย์เข้าเรียน                                                                                                                43
บทที่ 4 วิเคราะห์วงโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ในอดีตและปัจจุบัน                  44
– สมัยอดีต                                                                                                                               44
– สมัยปัจจุบัน                                                                                                                          45
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์                                              46
– ปัจจัยทางเทคโนโลยี                                                                                                          46
– ปัจจัยทางสังคม                                                                                                                   46
– ปัจจัยทางเศรษฐกิจ                                                                                                             46
สภาพสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่ออาชีพชาวอีสาน                                                              47
บทที่ 5 บทสรุปผลการศึกษา และข้อเสนอแนะ                                                                     49
บทสรุป                                                                                                                                   49
ข้อเสนอแนะ                                                                                                                           53
บรรณานุกรม                                                                                                                           54
ภาคผนวก ก.                                                                                                                          55
ภาคผนวก ข.                                                                                                                          96

บทที่ 1บทนำความเป็นมา และความสำคัญของปัญหา

ดนตรี เป็นสิ่งสร้างสรรค์จรรโลงโลก เป็นมรดกของชนชาตินั้น ๆ ทุกชนชาติ ทุกภาษาย่อมมีดนตรีเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ในเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมันเอง บ้างก็เอาไว้ ขับกล่อม เอาไว้ผ่อนคลายความตึงเครียด ไว้เป็นสื่อเป็นตัวแทนในสิ่งต่าง ๆ เป็นหน้าเป็นตา ของเมืองนั้น ๆ และใช้ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วย ซึ่งดนตรีมีวิวัฒนาการและสะสม ภูมิปัญญาของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีคลาสสิก ดนตรีแจ๊ส ดนตรีบ๊อบแม้กระทั่งดนตรีต่าง ๆ ในโลกนี้ก็ตาม ล้วนมาจากพื้นฐานทางดนตรีด้วยกันทั้งสิ้น ดนตรีจึงเป็นภาษาสากล ที่สามารถทำให้มนุษย์เราทุกชนชาติเข้าใจกันและกันได้ ผู้ที่สามารถเข้าใจดนตรีได้เป็นอย่างดี และลึกซึ้ง ย่อมได้เปรียบบุคคลอื่น ทั้งในด้านการคบหาสมาคมกับผู้อื่นและด้านสติปัญญา เพราะวิชาดนตรีสามารถกล่อมเกลาจิตใจคนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นดนตรีของชนชาติใด ๆ ในโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีคุณประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น

มนุษย์เราเริ่มแรกตั้งแต่มีชีวิตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบในรูปแบบต่าง ๆ นั้นสามารถผ่านเข้าสู่ระบบของร่างกาย โดยผ่านสื่อที่ซึมซาบเข้าสู่กระบวนการของสมอง ซึ่งตัวเราเองได้สัมผัสและเข้าใจได้โดยง่ายนั่นก็คือ เสียงดนตรี ดังคำที่ว่าดนตรีเป็นภาษาที่คนทั่วโลกเข้าใจได้ตรงกันมากที่สุด ดังนั้น ดนตรีจึงเป็นสื่อที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดตลอดจนความรู้ความบันเทิง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือสามารถขัดเกลานิสัยและ จิตใจของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ดนตรีจึงจัดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสื่อสารในเชิงสร้างสรรค์ นับได้ว่าเป็นสื่อสากลที่สามารถติดต่อสื่อสารได้ในระดับที่กว้างขวางและลึกซึ้ง

จากอดีตจนถึงปัจจุบันชีวิตของมนุษย์เรามีความเกี่ยวพันกับดนตรีตั้งแต่แรกเกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นดนตรีจากเพลงกล่อมเด็ก ดนตรีจากพิธีกรรมทางศาสนา ล้วนแต่มีความจำเป็นทั้งสิ้น ซึ่งมนุษย์ทุกเชื้อชาติทุกวรรณะสามารถฟังและเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบาย ดนตรียังก่อให้เกิดอารมณ์คล้อยตาม เกิดความสบายใจ ผ่อนคลายความตึงเครียด นอกจากนี้ยังเป็นสื่อที่สะท้อนสังคมเป็นการแสดงออกทางศิลปะ และถ่ายทอดเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคมออกมาในรูปของ บทเพลงทั้งทางตรงและทางอ้อม
ดนตรีจัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความละเอียดอ่อน งดงาม และมีคุณค่า ดำรงความเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยเป็นที่ยอมรับ และเชื่อถือกันว่าดนตรีเป็นภาษาชนิดหนึ่งของมนุษย์ ชาติใดที่มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ก็มักจะมีดนตรีเป็นของตนด้วย เพราะดนตรีและเพลงร้องเป็นสิ่งที่พัฒนามากันกับภาษาพูดของแต่ละประเทศนั้น ๆ เครื่องดนตรีน่าจะมีลักษณะการเกิดในแนวเดียวกันคือ เริ่มต้นที่การตี เคาะ และการกระทุ้งหรือกระแทก ก่อให้เกิดจังหวะเป็นการเริ่มต้นของดนตรี นอกจากนั้นการเป่าจึงเกิดขึ้นตามมาเพราะคนเราต้องหายใจ จนแม้แต่การพูด การผิวปาก ก็คือการเป่าด้วย และการที่มนุษย์เราใช้ธนูในการล่าสัตว์ เพื่อหาเลี้ยงชีพ การดีดของธนูทำให้เกิดเสียงเป็นจุดเริ่มต้นของการหาวัสดุในการดีด ทำให้เป็นดนตรีหรือเสียงด้วย การตั้งสายที่สูงต่ำต่างกันออกไป จนเกิดเป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด จนเมื่อมนุษย์เราได้ยินเสียงกอไผ่เสียดสีกันเป็นเสียง จึงได้มีการพัฒนาสร้างคันชักสำหรับสีขึ้น ซึ่งก็กลายเป็นเครื่องดนตรีประเภทสีขึ้นมาในที่สุด

ดนตรีพื้นบ้าน ได้สะท้อนถึงขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วัฒนธรรม สภาพความเป็นอยู่ ความอุดมสมบูรณ์ ความแห้งแล้ง โดยภาพสะท้อนเหล่านี้จะดูได้จาก สำเนียงเพลง บทเพลง ลักษณะของเครื่องดนตรีได้อย่างชัดเจน ซึ่งดนตรีของแต่ละภาคจะมีลักษณะโดยเฉพาะของตนเอง จะมีสำเนียงเพลง ภาษา เอกลักษณ์ และลักษณะเครื่องดนตรีแตกต่างกันออกไปตามลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เช่น ทางภาคเหนืออากาศหนาวเย็น และเงียบ คนทางภาคเหนือก็จะทำอะไรช้า ๆ แม้กระทั่งคำพูดคำจาของทางภาคเหนือก็จะช้า ๆ เนิบ ๆ พูดเสียงเบา ซึ่งเป็น ผลสะท้อนทำให้เครื่องดนตรีทางภาคเหนือนั้นเป็นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะการเล่นการบรรเลงอย่างช้า ๆ และเครื่องดนตรีก็มีเสียงค่อนข้างเบา ฟังดูเยือกเย็นและอ่อนหวาน ซึ่งมีผลสะท้อน ที่สอดคล้องเช่นเดียวกับภาษาที่ใช้ทางภาคเหนือ และแต่ละลักษณะของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของชนกลุ่มนั้น ๆ โดยอาศัยสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศเป็นเกณฑ์ และไม่มีขอบเขตที่ตายตัวและแน่นอน เครื่องดนตรีทางภาคเหนือมีลักษณะงดงาม เพราะคน ทางภาคเหนือมีเวลาที่จะประดิษฐ์คิดค้นรูปร่างของเครื่องดนตรีต่าง ๆ มากมาย

ดนตรีทางภาคอีสาน เนื่องจากทางภาคอีสานมีอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เมื่อถึงเวลาหน้าฝนชาวอีสานต้องรีบทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จนไม่มีเวลาที่จะสนุกสนาน มากนัก เครื่องดนตรีจึงไม่สวยงาม ประดิษฐ์ขึ้นอย่างง่าย ๆ และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น การบรรเลงก็รวดเร็วคึกคัก กระชับและสนุกสนาน แสดงถึงความเร่งรีบ

จากที่กล่าวมาข้างจึงเห็นได้ว่าดนตรีพื้นบ้านจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวโดย เกิดจากภูมิปัญญาของชนชาวอีสาน โดยลักษณะของเครื่องดนตรีจะเกิดขึ้นกับแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกันและได้มีการนำมารวมวงกันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นขอบเขตที่ชี้ลงไปอีกว่าสภาพภูมิประเทศภูมิอากาศแห้งแล้งหรืออุดมบรูณ์ โดยจะสังเกตเห็นได้จากการกำเนิดของเครื่องดนตรีแต่ละประเภท ตัวอย่างเช่น โหวด กำเนิดขึ้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ชี้ให้เห็นถึงความแห้งแล้ง เพราะเสียงของโหวดเมื่อได้ฟังแล้วจะรู้สึกถึงความรันทด หดหู่ใจ และสอดคล้องกับสภาพของดินฟ้าอากาศที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สภาพดินแตกระแหงแห้งแล้ง อากาศมีความร้อนสูง ยากแก่การเพาะปลูก เป็นเหตุที่ทำให้เครื่องดนตรีมีเช่นนี้ คือ การเข้าไปหาอาหารในป่า หรือ การล่าสัตว์จึงนำเอาไม้ไผ่ชนิดบาง ๆ มาตัดมีความสั้นยาวที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดเสียงสูงเสียงต่ำ และนำมาเล่นในยามที่ว่างจากงาน หรือยามที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวอะไร

ดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซึ่งประกอบด้วย เครื่องดีด สี ตี เป่า ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้
เครื่องดีด ได้แก่ พิณ ไหซอง
เครื่องสี ได้แก่ ซออีสาน
เครื่องตี ได้แก่ โปงลาง กลองหาง
เครื่องเป่า ได้แก่ แคน โหวด

ลักษณะของเครื่องดนตรีดังที่จำแนกข้างต้นนี้ ชาวอีสานได้นำมารวมวงและเล่นกัน ในยามว่างงาน และมีความสนุกสนานครื้นเครง ซึ่งเป็นการคลายเครียดอย่างหนึ่งของชาวอีสานที่ได้เสร็จจากการทำงาน

วงโปงลาง เป็นวงที่รวมเอาเครื่องดนตรีทางภาคอีสานมารวมกันไว้ในวงเดียวกัน ซึ่งมี จังหวะ ท่วงทำนอง ลีลา และสีสัน ของเพลงที่แตกต่างกันออกไปจากวงดนตรีชนิดอื่น ๆ โดยมีสัญลักษณ์โปงลางเป็นเอกลักษณ์ และเรียกตามโปงลางว่า “วงโปงลาง” ปัจจุบันการเล่นดนตรีโปงลางเป็นอาชีพมีให้เห็นอย่างมากมายและแพร่หลาย โดยเกิดจากการที่ว่างจากการทำงานจึงได้รวมตัวกันและก่อตั้งวงกันขึ้นมา ซึ่งทำให้มีรายได้เพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ไม่มากก็น้อย ผู้ที่เป็นพ่อและแม่ของชาวอีสานจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของดนตรีพื้นบ้านนอีสาน จึงได้มีการส่งเสริมให้บุตรหลานของตนเข้าเรียนดนตรีและช่วยผ่อนผันค่าใช้จ่ายทางครอบครัวหลังจากที่เสร็จจากการทำไร่ ไถ่นา
แถบภาคอีสานมีการเรียนการสอนดนตรีโปงลางกันเกือบทุกจังหวัด ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ศึกษาและสนใจ ในปัจจุบันมีแหล่งศึกษาสำคัญ ๆ กันอยู่ 2 แห่งใหญ่ ๆด้วยกัน คือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ในปัจจุบัน วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งอบรมสั่งสอนให้ ความรู้ด้านนาฏศิลป์ แก่กุลบุตรกุลธิดาของประชาชน ในจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง ดนตรีพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปงลางเป็นสาขาหนึ่งที่เน้นและส่งเสริมในเรื่องการเรียน การสอน และการอนุรักษ์เผยแพร่เก่าสาธารณะชนทั่วไป จนเป็นที่ยอมรับกันว่า ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานเป็นที่รู้จักเป็นที่ชื่นชม และเป็นที่รักหวงแหนควรแก่การที่จะดำรงรักษาไว้ให้เป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติดังนั้น วงดนตรีโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จึงเป็นวงมาตรฐานที่คน ทั่วไปยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัด โดยจะเห็นได้จากการที่มีบุคคลสำคัญมาเยือนจังหวัดกาฬสินธุ์ ทางราชการก็จะจัดให้มีการแสดงวงดนตรีโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ให้คณะผู้มาเยือนได้ชมอยู่เสมอ สร้างความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง และนอกจากนี้

วงดนตรีโปงลางดังกล่าวยังได้เป็นตัวแทนของจังหวัดกาฬสินธุ์และของประเทศไทยไปแสดง เผยแพร่ในต่างประเทศ มากมายหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น ยุโรป เอเชีย และอเมริกา สร้างความ ชื่นชมให้ชาวต่างประเทศที่นิยมในการอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองเป็นยิ่งนัก
ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษาวิจัยสนใจที่จะศึกษาประวัติดนตรีพื้นบ้าน “วงโปงลาง : วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์” และชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างในสมัยอดีตกับสมัยปัจจุบันเพื่อวิเคราะห์ถึงการวิวัฒนาการทางดนตรีที่ดีขึ้น หรือถดถอยลงเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขข้อดีและ ข้อเสียสำหรับการศึกษาและอนุรักษ์สืบต่อไป

วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1. เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
2. เพื่อศึกษาถึงลักษณะการบรรเลงรวมวงของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
3. เพื่อศึกษาถึงความแตกต่างของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ทราบถึงประวัติความเป็นมาของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
2. ทราบถึงลักษณะการบรรเลงรวมวงของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
3. ทราบถึงความแตกต่างของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
ขอบเขตของการศึกษาวิจัย
ศึกษาเฉพาะวงโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์

วิธีการดำเนินการวิจัย
1. ศึกษาจากหนังสือและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี จำนวน 5 ท่านคือ
2.1 อาจารย์ เปลื้อง ฉายรัศมี
2.2 อาจารย์ ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์
2.3 อาจารย์ นิตยา รังเสนา
2.4 อาจารย์ ราชันย์ ฉายรัศมี
2.5 นางสาว นันทนาการ โกศลศาสตร์
ข้อตกลงเบื้องต้น
1. ข้อมูลที่สัมภาษณ์ถือเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
2. การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยบันทึกทำนอง จังหวะ ด้วยตัวโน้ต ด ร ม ฟ ซ ล ท

นิยามศัพท์
– ลาย หมายถึง เพลง หรือบทเพลง
– ขี้สูด หมายถึง ชันรง หรือ น้ำลายของแมลงชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามเนินดินบริเวณทุ่งนา
– ไม้เฮี้ย หมายถึง ไม้ซาง หรือไม้ไผ่ชนิดที่บาง ๆ
– แมง หมายถึง แมลง
– แม่ฮ้าง หมายถึง แม่ม่ายหรือหญิงที่แต่งงานมีสามีแล้วแต่หย่ากับสามี
– ตูบ หมายถึง ที่พักผ่อน หรือกระท่อมเล็ก ๆ หลังคาทำมาจากต้นข้าว
ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัยผู้ศึกษาวิจัยคาดว่าจะใช้เวลาในการวิจัยอย่างน้อย 1 ปี

เอกสารที่เกี่ยวข้อง
1 จารุบุตร เรืองสุวรรณ . ศิลปวัฒนธรรม .โรงพิมพ์พิฆเณศ : กรุงเทพฯ, 2535. กล่าวถึง ต้นกำเนิดของดนตรีของชาวอีสานก็คือโปงลางว่า ในสมัยก่อนโปงลางใช้แขวนบนหลังคอวัว ต่อมาการค้าวัวซบเซาลง จึงนำไปผูกคอช้างลากซุงแทน ซึ่งผู้แต่งจะแสดงให้เห็นว่าดนตรีโปงลางนั้นเกิดขึ้นมาจากการค้าขายเพื่อใช้เป็นสัญญลักษณ์การติดต่อค้าขาย ไม่ใช่เพื่อการแสดงในแบบปัจจุบัน
2 จารุวรรณ ธรรมวัตร.วัฒนธรรมพื้นบ้าน. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพฯ, 2536. กล่าวถึง ลักษณะของบทเพลงทางภาคอีสานสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่ ความแห้งแล้ง การดำรงชีพ ยังรวมไปถึงขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และการละเล่นของชาวอีสาน
3 วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ . ทศวรรษวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ . ม.ป.ท : 2535. กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จุดประสงค์ของการจัดตั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ สาขาวิชาที่เปิดสอน จำนวนบุคลากรผู้บริหารวิทยาลัย จำนวนนักเรียนในแต่ละชั้นปี
4 บรรเทิง ชลช่วยชีพ. คู่มือทฤษฎีและปฏิบัติการดนตรีสากล. พิมพ์ครั้งที่1 สำนักพิมพ์โอเดียน สโตร์: กรุงเทพฯ, 2534. กล่าวถึงเทคนิคการใช้ปิคและทฤษฎีดนตรีสากลเบื้องต้นนอกจากนั้นยังแนะแนวการฝึกหัดเครื่องดนตรีสากลบางชนิดที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เช่น กีตาร์ กีตาร์เบส เป็นต้น
5 ณรุทธ์ สุทธจิตต์ . กิจกรรมดนตรีสำหรับครู . สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย :กรุงเทพฯ,2537. กล่าวถึงเทคนิคการใช้ปิคและทฤษฎีดนตรีสากลเบื้องต้นนอกจากนั้นยังแนะแนวการฝึกหัดเครื่องดนตรีสากลบางชนิดที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เช่น กีตาร์ กีตาร์เบส เป็นต้น

บทที่ 2 วงดนตรีโปงลางพื้นบ้านวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
ประวัติและความเป็นมาของวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์
โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งประกาศจัดตั้งวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ โดย ได้แบบอย่างจากนาฎศิลป์จากที่ต่าง ๆ และจากนาฎศิลป์กรุงเทพฯ มาเป็นแบบอย่างและ เป็นศูนย์รวมการศึกษาฝึกฝนอบรมทักษะทางวิชาการ โดยเน้นทางด้านการดนตรีและนาฏศิลป์ เพื่อให้เด็กมีความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีและนาฎศิลป์ให้มีศักยภาพเท่าเทียมกับคนในเมืองต่าง ๆ และในเมืองหลวง ให้เปิดทำการสอนนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะที่ 4-5 ในด้านการศึกษา ที่จะต้องพัฒนาและขยายการศึกษาด้านนาฎศิลป์และดุริยางค์ไทยไปสู่ส่วนภูมิภาคให้เพียงพอ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปิดดำเนินการได้ในปีการศึกษา 2525 กรมศิลปากรอนุมัติเงิน 6,000,000 บาท ให้ก่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น 18 ห้องเรียน จำนวนหนึ่งหลังก่อนในระยะแรกในเนื้อที่ ของราชพัสดุแปลงที่ 14633 บริเวณสนามบินเก่า กองทัพบก ตำบลหลุบ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในเนื้อที่ 50 ไร่ และได้แต่งตั้งวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ขึ้นเมื่อ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 สังกัดกองศิลปศึกษา กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันได้งบประมาณ จากส่วนกลาง มาสร้างอาคารเรียนให้เพิ่มขึ้นอีก 3 อาคารและมีนักเรียนในปีการศึกษา 2542 เพิ่มขึ้นเป็น 800 คน สีประจำวิทยาลัยคือ สีเขียว-ขาว คติพจน์ สามัคคี มีวินัย ใจกตัญญู ปรัชญาของวิทยาลัยคือ สาลุโข สิปปกํ นาม อปิ ยาทสถี ทิสํ หมายความว่า ขึ้นชื่อว่า ศิลปะ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ยังประโยชน์ให้ สัญลักษณ์ประจำวิทยาลัยคือ พระพิฆเนศร์ โดยเชื่อกันว่าพระพิฆเณศร์เป็นชื่อเทพเจ้าองค์หนึ่ง มีเศียรเป็นช้างมีงาข้างเดียว กายสีแดง ทรงเป็นโอรสของพระศิวะกับพระอุมา ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะและวิทยาการทั้งปวง ถ้าบูชาแล้วป้องกัน ความขัดข้องที่จะเกิดขึ้นได้ พระนามของพระคเณศมีหลายพระนาม เช่น พระพิฆเนศร์ เป็นต้น
กิจการของวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ ได้เปิดดำเนินการติดต่อกันมา โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาเรียงตามลำดับดังนี้
พ.ศ. 2525-2529 นายสำเริง จิตจง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2530 นายสำเริง จิตจง ผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2530-2531 นางเพ็ญทิพย์ จันทุดม รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2531-2532 นายสมบัติ แก้วสุจริต ผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2533-2536 นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2536-2538 นางสันทนา วงษ์แสงพลอย ผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2538-2540 นายสังเวียน ทองคำ ผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2541- ปัจจุบัน นายเอนก นิคมภักดิ์ ผู้อำนวยการ
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์
1. ให้การศึกษาอบรมทั้งวิชาสามัญและศิลปะ เพื่อผลิตครู และศิลปินทางด้านนาฎศิลป์และดุริยางค์
2. ดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยด้านนาฎศิลป์และดุริยางค์ศิลป์
3. ให้การพัฒนาทางวิชาการและจัดแสดงเผยแพร่ด้านนาฎศิลป์ ดุริยางค์ แก่ชุมชน และหน่วยงาน ทั้งของรัฐบาลและเอกชน
สาขาวิชาที่เปิดสอนเป็นวิชาปฏิบัติศิลป์ ( วิชาเอก )
1. สาขาโขน รับเฉพาะนักเรียนชาย
2. สาขาละคร รับเฉพาะนักเรียนหญิง
3. สาขาปี่พาทย์ รับทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง
4. สาขาเครื่องสาย รับทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง
5. สาขาคีตศิลป์ รับทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง
สาขาที่เปิดสอนเป็นวิชาเลือกปฏิบัติศิลป์ ( วิชาโท )
1. โขน
2. ละคร
3. ปี่พาทย์
4. เครื่องสาย
5. คีตศิลป์
6. นาฎศิลป์พื้นเมือง
7. ดนตรีสากล
8. ดนตรีพื้นเมือง
เขตความรับผิดชอบทางการศึกษา มี 9 จังหวัด คือ
กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, มหาสารคาม, อุดรธานี, สกลนคร, เลย, หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร
( วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ กองศิลปศึกษา กรมศิลปากร, 2535 : 10 )
หลังจากที่ได้มีการก่อตั้งวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ. 2525 ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งให้นายเปลื้อง ฉายรัศมี มาทำการสอนและเผยแพร่ดนตรีให้กับวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ในสาขาดนตรีพื้นบ้าน และเป็นครูคนแรกที่ก่อตั้งและสอนดนตรีพื้นบ้านอีสาน โดยสอนมาตั้งแต่รุ่นแรกของวิทยาลัย จนถึงรุ่นปัจจุบัน และได้มีนักศึกษาที่จบจากวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์มาสอบบรรจุเข้ารับราชการช่วยสอน ในปัจจุบันนี้ครูสอนดนตรีพื้นบ้านอีสานในวิทยาลัยนาฎศิลป์มี 5 คน ดังรายชื่อต่อไปนี้
1. อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี
2. อาจารย์สหชาติ ศรีสร้างคอม
3. อาจารย์วัชระ บุญแนน
4. อาจารย์อังกูล ไชยสิทธิ์
5. อาจารย์ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์

ประเภทของเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเรียนการสอนของวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ ซึ่งถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและใช้เวลาสะสมประสบการณ์ทางดนตรีมาเป็นแรมปี ซึ่งการแสดงของแต่ละบุคคลก็มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไปและอาศัยประสบการณ์การแสดงมาเป็นพื้นฐาน ขึ้นชื่อว่าการแสดงไม่ว่าจะเป็นมหรสพชนิดใดก็ตาม องค์ประกอบที่จะทำให้การแสดงนั้นสมบูรณ์เรียกร้องความสนใจของผู้ชมได้มาก อยู่ที่ว่าต้องมีเสียงดนตรีประกอบไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีไทย วงดนตรีสากลต่าง ๆ หรือวงดนตรีพื้นบ้านก็ตาม แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ วงดนตรีพื้นบ้านโปงลาง

ในสมัยก่อนการบรรเลงเครื่องดนตรีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปกติจะใช้เครื่องดนตรีแต่ละชนิดบรรเลงเดี่ยวไม่นิยมนำเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาบรรเลงผสมกัน ด้วยเหตุผล หลายประการ เช่น เวลาไม่อำนวย ทำนองเพลงที่จะบรรเลงร่วมกันมักจะประสานกันได้ยากเพราะไม่มีการบันทึกตัวโน้ต ผู้บรรเลงจะบรรเลงไปตามความสามารถและความถนัดของตน โดยการนำลายหลัก (หมายถึงแม่เพลงของโปงลาง) มาผสมผสานกันเพื่อทำให้เกิดลายเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ขึ้น มากมาย โดยจะสังเกตได้ว่าในการบรรเลงลายเพลงแต่ละเพลงนั้น จะเริ่มต้นด้วยเกริ่นเพลงบรรเลงก่อนเสมอ แล้วจึงบรรเลงต่อด้วยการดำเนินทำนองหลัก

ลักษณะท่วงทำนองของแต่ละลายเพลงจะมีทำนองสั้น ๆ จึงทำให้บรรเลงกลับไปกลับมาได้ตามความพอใจของผู้บรรเลง ต่อจากการบรรเลงทำนองหลักก็จะเป็นการบรรเลงทำนองแรกด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงทำให้ดนตรีพื้นบ้านอีสานต้องบรรเลงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ ในอดีตเช่น การเดี่ยวแคน เดี่ยวพิณ เดี่ยวโปงลางเป็นต้น เมื่อมีการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านต่อ ๆ ไป จะเห็นว่าผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่ายและลดความนิยมในการฟังผู้บรรเลงจึงได้คิดสร้างการบรรเลง ให้มีวิวัฒนาการไปสู่ความแปลกใหม่ ด้วยการนำเครื่องดนตรีแสดงเดี่ยวแต่ละชนิดมาบรรเลง ร่วมกัน จนมีผลให้การบรรเลงดนตรีพื้นบ้านนั้นมีความไพเราะเร้าใจมากขึ้น และสร้างความนิยมให้ผู้ฟังมากขึ้น

ลักษณะของเพลงบ้านอีสานทั่วไปมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ
1. ไม่ทราบนามผู้แต่ง
2. นักดนตรีไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมในการแต่งเพลง
3. ดนตรีมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน
4. เป็นการแสดงออกทางดนตรีของคนส่วนใหญ่
5. การขับร้องหรือบรรเลงไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมทางทฤษฎี
6. เป็นดนตรีที่มีอายุเก่าแก่
7. เป็นดนตรีที่สืบทอดด้วยความจำ
8. มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามความนิยมของผู้เล่นและผู้แต่ง
9. ไม่มีใครทราบว่าทำนองเดิมหรือเพลงเดิมเป็นอย่างไร ( ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์ , สัมภาษณ์ )

ดนตรีพื้นบ้าน คือ ดนตรีที่แต่งขึ้นโดยคนพื้นเมืองหรือนักดนตรีพื้นบ้านด้วยเนื้อหา สำนวนหรือกลอนเพลงที่สั้น ๆ แต่เล่นวนไปเวียนมาและนิยมสืบทอดต่อกันโดยวิธีจำ ไม่นิยมจำเป็นตัวโน้ต
ในปัจจุบันดนตรีพื้นบ้านอีสานได้รับความนิยมสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งได้นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานแต่ละชนิด แต่ละประเภท เช่น พิณ แคน โหวด โปงลาง ซออีสาน ไหซอง กิ๊บแก๊บ ฉิ่ง กลองหาง มาผสมร่วมบรรเลงด้วยกันแล้วทำให้ เสียง จังหวะ และท่วงทำนองที่เกิดขึ้นสร้างความสนุกสนานเร้าใจไม่แพ้การบรรเลงคอนเสิร์ตของวงดนตรีสากลต่างๆ เลย

เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในการเรียนการสอนของวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ดังนี้
ประเภทเครื่องดีด ได้แก่ พิณพื้นบ้าน ไหซอง (ปัจจุบันใช้พิณเบสแทน)
ประเภทเครื่องสี ได้แก่ ซอพื้นบ้าน ( ซอปิ๊บ ซอกระป๋อง ซอกระลา )
ประเภทเครื่องตี ได้แก่ โปงลาง กลองหาง
ประเภทเครื่องเป่า ได้แก่ แคน โหวด
เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ใช้ในวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์

เครื่องดีด
ดนตรีประเภทเครื่องดีด หมายถึง เครื่องดนตรีที่มีสายใช้ดีด มีอุปกรณ์สำหรับดีด ที่เรียกว่าปิ๊ก ( PICK ) ( บรรเทิง ชลช่วยชีพ , 2524 : 121 ) ได้แก่ พิณพื้นบ้าน ชาวบ้านและนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ศิลปมรดกอีสานวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์และนักดนตรีพื้นเมืองอีสานทั่ว ๆ ไปเรียกชื่อพิณพื้นบ้านอีสานนี้แตกต่างกันออกไปหลาย ชื่อทั้ง ๆ ที่เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเดียวกัน เช่น หมากจับปี่ หมากตับแต่ง หมากตับเต่า หมากตดโต่ง ซุงบ้าง แต่เดิมพิณพื้นบ้านอีสานเรียกว่า ” ซุงพื้นบ้านอีสาน ” เนื่องจาก ทำมาจากไม้ซุงท่อนเดียวตลอดทั้งตัว แต่ต่อมาคนทั่วไปนิยมเรียกว่า พิณ โดยนำไม้เนื้ออ่อนเช่น ไม้หมากหมี่ (ไม้ขนุน) มาสร้างเพราะมีน้ำหนักเบา และให้เสียงทุ้มกังวาล ไพเราะกว่าไม้ชนิดอื่น ๆ มีรูปร่างคล้ายกับกีตาร์ แต่ฝีมือหยาบกว่าพิณเป็นเครื่องดีดที่ทำด้วยไม้ มีกล่องเสียงลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม รูปวงกลม หรือทำเป็นรูปคล้ายใบไม้ก็มี ปัจจุบันนิยมทำเป็นรูปร่างต่าง ๆ มากมาย ซึ่งแล้วแต่ผู้เป็นเจ้าของต้องการ มีช่องเสียงตรงกลาง ด้านหน้า กล่องเสียงขนาดกว้างประมาณ 25 ซ.ม. ทำให้เกิดเสียงไพเราะ สดใส และมีสีสวยสดด้วยลายสีธรรมชาติของลายไม้อีกด้วย ส่วนคันพิณ ก็ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ตรงปลายเซาะเป็นร่อง ด้านข้าง เจาะรูสำหรับสอดลูกบิด ตั้งสายซึ่งทำจากลวด อาจจะมี 2 สาย 3 สายหรือ 4 สายก็ได้ ซึ่งสายพิณอาจจะใช้สายลวดเบรครถจักรยาน เป็นลวดเหล็กเพราะเสียงที่ได้จะเป็นเสียงที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด นมแบ่งเสียงมักจะทำมาจากไม้เนื้อแข็ง หรือเขาสัตว์ มี 5 เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา ใช้ในเพลงสมัยอดีต ในสมัยปัจจุบัน มีครบ ทั้ง 7 เสียง คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที ส่วนตรงปลายสุดของหัวพิณ มักนิยมทำเป็นลวดลายที่สวยงามซึ่งในสมัยก่อนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมดนตรี จากอาณาจักรฝ่ายเหนือที่ได้เลื่อนไหล มาสู่ทางภาคอีสาน โดยจะเห็นได้จาก การทำหัวพิณจะมีการเขียนเป็นลายที่สวยสดงดงาม หรือ มีการแกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ เช่น รูปหัวพญานาค รูปหัวหงส์ รูปลายกนก และรูปต่าง ๆ ตามจินตนาการ
วิธีการดีดพิณ
คล้ายกับวิธีการดีดกีตาร์ นิ้วมือทุกนิ้วทำหน้าที่กดสายให้มีระดับเสียงต่าง ๆ ส่วนมือขวาจะดีดสายพิณ บริเวณเหนือหย่องสาย ปิ๊ก( PICK ) นิยมทำด้วย ไม้ไผ่ผ่าให้บาง หรือใช้เขาสัตว์ เหลาเป็นแผ่นบาง ๆ แต่ในสมัยปัจจุบัน นิยมใช้พลาสติกแทน
การบรรเลง
พิณสามารถใช้บรรเลงประกอบกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้ เช่น แคน ซอ โหวด โปงลาง เป็นต้น และนิยมใช้พิณบรรเลงนำวง ซึ่งปัจจุบันการรวมวงโปงลางนี้ สามารถเล่นได้ครบทั้ง 7 เสียง และสามารถบรรเลงเพลงไทยสากล เพลงสากล หรือ บรรเลงเดี่ยว ๆ ก็ได้
ไหซอง
ตามแบบเดิมมี 2 ใบ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2514 ได้นำไหมาทดลองดีดประกอบโปงลางโดยคณะโปงลางกาฬสินธุ์ เพียง 2 ใบเท่านั้น คือ ไหเล็กและไหใหญ่ เพื่อให้เกิดเสียงสูงและเสียงต่ำไม่ซ้ำเสียงกัน ใช้ขึงด้วยยางสติ๊กตามแบบเดิม ถ่วงเสียงด้วยระดับน้ำพอเหมาะ ทำให้เกิดเสียงขึ้นคู่ 5 เสียง ลา-มี เทียบเสียงกับโปงลางหรือ พิณ แคน ก็ได้ เมื่อนำมาดีดก็เกิดเสียงไพเราะนุ่มนวลดีกว่าเสียงกลอง ซึ่งเสียงจะแข็งและหนักแน่นเกินไป จึงนิยมใช้และพัฒนามา จนถึงปัจจุบันไหซองส่วนใหญ่นิยมใช้กันถึง 5 ใบและทำขาตั้งด้วยเหล็กยึดติดแน่นป้องกัน การตกหล่นกระทบพื้น ไหเป็นเครื่องดีดชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ทื่น แปลว่าดีดอย่างแรงหรือทำอย่างแรง การเล่นไหจะใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับที่แผ่นยางที่ปากไห ดึงแล้วปล่อยมือ ทำให้ยางสั่นสะเทือนไปมาและเกิดเสียงดังขึ้นเป็นเสียงทุ้มต่ำคล้ายเสียงเบส เดิมใช้แทนเสียงเบส คนดีดไหเดิมเป็นผู้ชายแต่ในปัจจุบันใช้ผู้หญิงดีด และมีลีลาการดีดที่งดงามอ่อนช้อย ผสมกับ การรำ โดยนางไหส่วนใหญ่ต้องมีพื้นฐานมาจากการรำมาก่อนและเป็นตัวเพิ่มสีสันให้กับ วงโปงลาง แต่ในปัจจุบันนี้ในวงดนตรีพื้นบ้านอีสานวงโปงลาง วิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ ใช้เบสไฟฟ้าแทนและยังมีการเรียนการสอนเป็นหลักสูตร โดยประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย ทั้งนี้ยังง่ายต่อการเล่นหรือบรรเลงเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงในปัจจุบันนี้ก็ยังคงเอาไหซองมาดีดเช่นเดิม แต่ไม่มีเสียง และคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งการรำไห ( นิตยา รังเสนา , สัมภาษณ์ )

เครื่องสี
เป็นเครื่องดนตรีที่มีสายขึงตึงบนกล่องเสียง โดยมีหย่องขึ้นระหว่างกล่องเสียง กับสายโดยใช้คันชักสำหรับสีให้สายสั่นสะเทือนทำให้เกิดเสียง เครื่องดนตรีประเภทสี หรือ ที่เรียกกันว่า ซอ ซออีสานมักจะทำมาจากวัสดุที่เหลือใช้ เต้าซอจะมีชื่อเรียกตามวัสดุที่ใช้ทำ เช่น ซอปี๊บ ซอกระป๋อง ซอกะลา ซอบั้งไม่ไผ่ เป็นต้น
ซอปี๊บ หรือ ซอกระป๋อง
เป็นซอที่ทำขึ้นจากการนำปี๊บหรือกระป๋องต่าง ๆ มาทำเช่น ปี๊บน้ำมันก๊าด กระป๋องนมเด็กมาทำเป็นเต้าซอซึ่งทำหน้าที่สะท้อนเสียงและขยายเสียงแล้วนำคันทวนหรือคันซอที่ ส่วนปลายเป็นลูกบิดมาเจาะปักลงจนถึงส่วนก้นของซอปี๊บหรือซอกระป๋องแล้วขึงตึงสายซอ 2 สาย ผ่านหย่องที่วางบนก้นปี๊บ หรือก้นกระป๋องผ่านสานรัดไปยังลูกบิด การขึ้งสายของซอ ทั้งสองจะขึ้นเสียงเหมือนกับ ซออู้ โดยขึ้นสายเป็นคู่ 5 ได้แก่เสียง โด-ซอล ลา-มี หรือ เร-ลา เป็นต้น
ซอกะลา
เป็นซอที่ใช้กะลามะพร้าวผ่าซีกทำเป็นเต้าซอ โดยเลือกกะลาที่มีลักษณะตรงส่วนหัวหรือส่วนที่มีตามะพร้าวมีขนาดใหญ่แล้วเฉือนเอาส่วนก้นของกะลาออกเพียงเล็กน้อย แล้วนำมาหุ้มหน้าซอในส่วนก้นกะลาด้วยหนังสัตว์เช่นเดียวกับซออู้ จากนั้นก็ทำตามขั้นตอนเหมือนกับการทำซอปี๊บ และขึ้นสายทั้งสองห่างกันเป็นขั้นคู่ 5
ซอไม้ไผ่ เป็นซอที่ทำมาจากไม้ไผ่มีสาย 2 สายโดยใช้ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ที่มีปล้องอยู่ทั้งด้านหัวและท้าย มาทำเป็นเต้าซอและเป็นคันซอด้วยในตัว ซอไม้ไผ่มีสองสาย คันชักจะอยู่ภายนอกสายซอ ผู้เล่นจะหันกระบอกซอไปมาเพื่อให้สัมผัสกับคันชักตามต้องการ สายซอทุกชนิดส่วนใหญ่ชาวอีสานจะดัดแปลงมาจากสายเบรคของรถจักรยานที่ใช้แล้วนำมาแยกเป็นสายเดี่ยว ๆ สายซอ 2 สาย เรียกว่า สายเอก สายทุ้ม โดยทั่วไปขึ้นสายเป็นระยะขั้นคู่ 5 สายเอกและสายทุ้มจะใช้สายขนาดเดียวกัน ส่วนคันชักใช้สายเอ็นขนาดเล็กหลาย ๆ สายมารวมกันแทนการใช้หางม้า

เครื่องเป่า
แคน คนอีสานถือว่าแคนเป็นเครื่องดนตรีประจำครอบครัวและชีวิตประจำวันของท้องถิ่นและเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่อีกชิ้นหนึ่ง แคนสามารถเทียบเสียงได้ครบตามระบบเสียงดนตรีสากล คือ มีครบ 7 เสียง โด เร มี ฟา ซอล ฟา ที
เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าโดยวิธีใช้ปากเป่าดูดลมเข้าออกประกอบด้วย ไม้กู่แคน ไม้เต้าแคน หลาบโลหะ และ ชันโลง ( ขี้สูด ) โดยมีลายละเอียดดังนี้
ไม้กู่แคน ไม้ซาง ( ไม้ไผ่เฮี้ยทางภาคอีสาน ) ใช้สำหรับทำรูปแคนจะใช้จำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของแคน มีความยาวลดหลั่นเรียงติดกันเป็นตับในเต้าแคน และเจาะรูเล็กๆ ด้านข้างลูกแคนทุกลูกเพื่อกำหนดเสียง สูง ต่ำไม้เต้าแคน เป็นไม้ที่มีลักษณะทรงกลม ช่องตรงกลาง ส่วนหัวและท้ายจะหุ้มด้วยไม้เนื้อแข็งจำพวกไม้ตะเคียน หรือ ไม้พะยง เจาะผ่ากลางทะลุเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อเสียบลูกแคนและเจาะรูทางด้านยาวให้ทะลุถึงรูใหญ่ ใช้สำหรับเป่าโดยคว้านตรงปากเต้า ให้เป็นรูกลมบุ๋ม เข้าไป
หลาบโลหะ คือ ลิ้นแคนที่ทำด้วยโลหะประเภทเงิน หรือ ทองเหลืองใช้สอดอยู่ในลูกแคนตรงบริเวณตรงเต้าแคน
ชันโลง ( ขี้สูด ) ใช้สำหรับติดลูกแคนเข้ากับเต้าแคนและกันมิให้ลมออกทางเต้าในขณะเป่า
เมื่อนำส่วนประกอบดังกล่าวข้างตนนี้มาประดิษฐ์เป็นตัวแคนแล้วจัดประเภทเพื่อนำไปใช้เป่าได้ 4 ชนิด คือ แคน 6 แคน 7 แคน 8 แคน 9 ซึ่งเป็นแคนขนาดใหญ่และยาวมาก ไม่สู้จะนิยมนำมาเป่านักเพราะต้องใช้ลมมาก นอกจากนี้เมื่อนำแคนไปใช้ผู้เล่นจะคำนึงถึงลักษณะที่นำไปแสดงซึ่งแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ แคนเดี่ยวและแคนวง
ลิ้นแคนทำด้วยเงินหรือทองเหลือง ไม้กู่แคนจะมีลักษณะเรียงต่อ ๆ กันลงมาตามเสียงที่ช่างเทียบไว้ เพื่อทำให้เสียงได้ระดับที่แตกต่างกันออกไปตามต้องการ การเป่าแคนจะเป่าเป็นทำนอง เรียกว่าลายแคน ซึ่งลายแคนเหล่านี้จะจดจำจากหมอแคนในอดีตไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ลายต่าง ๆ ก็เลียนท่วงทำนองและเสียงจากธรรมชาติเช่น
1. ลายสุดสะแนน คำว่า “สะแนน” คงเพี้ยนมาจากคำอีสานคำหนึ่ง คือ “สายแนน” มีความหมายว่าต้นตอ หรือ สายใย เช่น ถ้าคนเราเคยเกิดเป็นพ่อแม่ ลูกกัน หรือสามีภรรยากันในอดีต ชาตินี้ก็ได้มาเกิดเป็นดังอดีตอีก เขาเรียกว่า คนเกิดตามสาย “แนน” เนื่องจากลายสุดสะแนนนี้เป็นลายครูมีความไพเราะเป็นพิเศษ จังหวะกระชับและมีลีลาท่วงทำนองตื่นเต้าเร้าใจตลอดเวลาหมอแคนทราบดีว่าเขาจะต้องเป่าลายสุดสะแนนให้เป็นก่อนที่จะก้าวไปสู่ลายอื่น
2. ลายใหญ่ ในท่วงทำนองแคนเป็นทำนองแบบลำยาวเสียงนิ่มนวลบอกถึงความพยายามระมัดระวังเป็นพิเศษ นักเป่าแคนที่ดีจะเป่าแคนได้ตรงเสียงและลมเป่าต้องนิ่ง
3. ลายน้อย เป็นลายเป่ากับลำยาวแต่มีจังหวะเร็วกว่านิดหน่อย เสียงไม่ทุ้ม ไม่โหวนเท่าลายอ่านหนังสือใหญ่ แต่ก็มีความไพเราะแบบง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน
4. ลายแมงภู่ตอมดอก เป็นลายที่ลอกเลียนแบบธรรมชาติได้ดีเป็นพิเศษ คำว่าแมงภู่ก็คือ แมลงภู่ตัวใหญ่ ๆ มีสีน้ำเงินแก่มองดูจนเขียว เวลาบินตอมดอกไม้มีเสียงดังหึ่ง ๆ ลักษณะเสียงของแมลงภู่จะมีทำนองลีลาช้า ๆ ก่อนแล้วเร็วกระชับเข้าตามลำดับ ลีลาของเสียงแคน จะฟังได้เป็นเสียงเล็กเสียงน้อย สมกับเสียงของแมลงภู่ตอมดอกไม้จริง ๆ
5. ลายโปงลางขึ้นภู ก็เป็นลายดัดแปลงจากธรรมชาติเช่นกันโปงลางนิยมทำไว้แขวนคอวัว คอควาย ซึ่งพ่อค้านิยมเทียมเกวียนเที่ยวไปขายของในที่ต่าง ๆ เวลาวัวควายเดินข้ามภูเขา จะมีเสียงขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นทำนอง เพราะวัว ควายแต่ละตัวแขวนโปงลางกันทั้งนั้น เสียงที่ประสานกันกีบวัว ควายกระทบกับก้อนกรวดก้อนหินกับเสียงโปงลางที่แขวนอยู่ที่คอ ฟังแล้ววิเวกวังเวงคิดถึงบ้านที่จากไปค้าขายเป็นที่สุด หมอแคนก็จะดัดแปลงการประสานเสียงของโปงลางออกมาในรูปของแคน จึงเรียกว่า ลายโปงลางขึ้นภู
6. ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก อาศัยธรรมชาติความว้าเหว่ และความพิไรรำพรรณ ผสมกันกับการประชดประชันชีวิตของผู้หญิงหรือสตรีเพศที่ถูกสามีทอดทิ้งไป ถอดความรู้สึกนั้นมาสู่แคน ออกมาเป็นลายแคนที่น่าฟังและไพเราะเป็นเยี่ยม
7. ลายลมพัดพร้าว เป็นลายแคนที่จำลองแบบของใบมะพร้าวเมื่อต้องลมซึ่งผิดกันกับใบไผ่มาก ใบมะพร้าวเมื่อถูกลมจะโยกไหวอย่างเชื่องช้า คราใดที่พายุพัดโบกมาก็จะเอนตัวไปตามสายลม พร้อมกับสะบัดใบเสียงดังเป็นจังหวะ ทำให้หมอแคนถอดออกมาสู่รูปธรรมในแบบของโสตทัศน์ นับว่าเป็นลายแคนที่จำลองแบบของธรรมชาติ ผสมกับจินตนาการเพื่อให้เกิดรูปธรรมอย่างดีที่สุดลายล่องของ คำว่าล่องของ เป็นคำ ๆ เดียวกันกับคำว่าล่องโขง หมายถึง การลำยาว เป็นทำนองเอื่อย ๆ แต่รัญจวนใจเปรียบเสมือนการปล่อยเรือให้มันล่องลอยไปตามลำน้ำโขงโดยไม่ต้องพาย ทำนองล่องโขงนี้ถ้าเป่าเดี่ยวก็ไพเราะ เป่าใส่หมอลำยาวก็ถึงใจดี
8. เต้ย เต้ยเป็นจังหวะตัดจากจังหวะลำปกติแล้วก่อนที่จะมาถึงเต้ยจะต้องมาจากลำสั้นแล้วลำยาวถึงจะเต้ยได้ จังหวะเต้ยเป็นจังหวะที่กระชับเพื่อให้ผู้ลำ คือหมอลำได้ออกท่าฟ้อน ดังนั้นเวลาเต้ย หมอลำจะต้องฟ้อนตลอด ไม่เฉยเหมือนตอนลำ คนไหนเต้ยได้ดีลำได้สวย จะได้รับการนิยมมาก ฉะนั้นเวลาที่เป่าลายเต้ย หมอแคนจะเป่าเป็นตอน ๆ ตามคนเต้ยแล้วมีที่ลง แต่ละตอนไม่ยาวมากนัก การเป่าเต้ยอาจจะเปลี่ยนจากลำเต้ยธรรมดา เป็นเต้ยหัวโนนตาล แล้วเป็นเต้ยพม่า ตามลำดับก็ได้
9. ลายเซิ้ง เป็นลายง่าย ๆ เป่าให้คนฟ้อนในลักษณะเซิ้ง เบื้องต้นจริง ๆ มาจากเซิ้งแม่นางด้น ซึ่งต้องใช้แคนเป่าคลอไป ภายหลังได้ดัดแปลงเป็นเซิ้งต่าง ๆ เช่น เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง เซิ้งกระติ๊บข้าวเป็นต้น แต่ลักษณะทำนองคล้ายคลึงกัน
ลักษณะลายเพลงต่าง ๆ ของวงโปงลางที่เล่นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากลายเพลงหลัก ๆ ทั้งสิ้น โดยเพลงต่าง ๆ จะมาจากการเกริ่นทำนองก่อนแล้วค่อยแตกออกมา เป็นเพลง ซึ่งเครื่องดนตรีต่าง ๆ นำเพลงมาจากลายเพลงของแคนทั้งสิ้น เช่น เพลงลำโปงลาง ซึ่งลักษณะของเพลงนี้ คนแต่เพลงนี้ขึ้นมาแต่เพื่อที่จะให้เครื่องดนตรีโปงลางบรรเลงนำวง และเรียกชื่อเพลงว่าเพลง ลำโปงลาง แต่ก็ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการแต่งเพลง และได้นำมาบรรเลงเล่นในวงเป็นต้น
วิธีการเลือกแคน
แคนจะมีเสียงดีหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแคนเป็นสำคัญวิธีการเลือกแคนให้ได้แคนที่ดีมีคุณภาพดีอาจพิจารณาได้ดังนี้
ไม่กินลม หมายความว่า เวลาเป่าไม่ต้องใช้ลมมากนักก็ดัง แคนที่ใช้ลมเป่ามากจะทำให้ผู้ที่เป่าเหนื่อยเร็ว แคนจะกินลมน้อยอาจจะขึ้นอยู่กับขนาดของแคน ถ้าแคนขนาดใหญ่มักจะกินลมมากกว่าแคนที่มีขนาดเล็ก แต่สาเหตุสำคัญมักจะเนื่องมาจากลิ้นแคนที่หนาและแข็งมักจะกินลมมาก หรืออาจจะเป็นเพราะแคนมีรูรั่วตามเต้าของแคน ซึ่งชันรงอุดไม่สนิทก็อาจเป็นได้
1. เสียงหนึ่ง ๆ ควรจะดังเท่ากันทั้งเวลาสูดลมเข้าและเป่าลมออก
2. เสียงทุกเสียงควรจะดังเท่ากันเมื่อใช้ลมเป่าเท่ากัน
3. คู่เสียงของแคนซึ่งเป็นคู่แปดทุกคู่ควรจะดังเท่ากัน และมีระดับเสียงเข้าคู่กัน
อย่างสนิทไม่ผิดเพี้ยน จึงจะได้คู่เสียงที่กลมกลืนไม่กระด้าง
4. คู่เสียงคู่หนึ่ง ๆ ควรดังเท่ากันทั้งเวลาสูดลมเข้าและเป่าลมออก
5. คู่เสียงทุกคู่ควรจะดังเท่ากันเมื่อใช้ลมเป่าแรงเท่ากัน
6. ควรจะเลือกแคนที่มีขนาดพอเหมาะกับมือของผู้เป่า หากผู้เป่ามีนิ้วมือใหญ่ยาว
ก็ควรจะเลือกแคนขนาดใหญ่ หากผู้เป่ามีนิ้วเล็กเรียวก็ควรเลือกแคนขนาดเล็กเพื่อให้กดนิ้ว ได้สะดวก

การเก็บรักษาแคน
แคนเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องการความเอาใจใส่ทะนุถนอมดูและรักษาเป็นอย่างมาก เพราะว่าแคนเป็นเครื่องดนตรีที่บาง ชำรุดเสียหายง่าย ผู้ใช้จึงควรทราบวิธีการเก็บรักษาอย่างง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
1. ควรจะเป่าอยู่เสมอ การเป่าบ่อย ๆ จะทำให้แคนมีเสียงดีและนุ่มนวล แต่อย่าใช้ลมเป่ากระโชกโอกฮาก เพราะจะทำให้ปลายลิ้นแคนโก่งขึ้น เวลาเป่าลมเข้าหรือหรือสูดลมออกจะดังไม่เท่ากัน
2. ควรเก็บแคนไว้ในกล่องที่แข็งแรงและมีฝาปิดที่มิดชิด เพื่อป้องการกระแทกกันแตกกันแมลงและฝุ่นมิให้ไปจับเกาะตามรูกู่แคนและตามลิ้นแคนจะทำให้แคนชำรุดได้ อย่างน้อยที่สุดก็ควรเก็บรักษาแคนไว้ในถุงผ้าที่ปิดได้สนิท
3. ไม่ควรนำแคนไปผึ่งแดดหรือเอาไว้ใกล้ไฟ เพราะจะทำให้ชันรงที่อุดตามเต้าแคนเยิ้มไปเกาะติดลิ้นแคน อาจเป็นสาเหตุให้เป่าไม่ดังเพราะลิ้นแคนไม่สั่นสะเทือน
4. ไม่ควรนำแคนไปจุ่มน้ำโดยเข้าใจผิดว่าจะเป็นการทำความสะอาดแคนเพราะจะทำให้ลิ้นแคนเป็นสนิมได้
5. ถ้าไม้กู่แคนแตกเพียงเล็กน้อย อาจซ่อมแซมได้โดยใช้ด้าย ไหมหรือเทปใสพัน ให้คงรูปในสภาพที่ดีอย่างเดิม แต่ถ้าแตกมากก็ต้องเปลี่ยนไม้กู่แคนนั้นใหม่จึงจะใช้การได้ดีเช่นเดิม
โหวด
เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าเช่นเดียวกับแคน และไม้ทำมาจากไม้กู่แคนไม้ซาง (ไม้เฮี้ย) โดยนำเอาไม้ประมาณ 7 ถึง 12 ชิ้นมาตัดให้ได้ขนาดลดหลั่นกันไปให้ปลายทั้งสอง เปิดส่วนปลายด้านล่างใช้ชันรง (ขี้สูด) ปิดให้สนิท ส่วนปลายบนเปิดไว้สำหรับรูเป่า โดยนำเอา ไม้กู่แคนมารวมกันเข้ากันกับแกนไม้ไผ่ที่อยู่ตรงกลาง จัดลูกแคนล้อมแกนไม้ไผ่ในลักษณะ ทรงกลม ตรงหัวใช้ชันรงก่อขึ้นเป็นรูปกรวยแหลมมน เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับจรดผีปากด้านล่างและให้โหวดหมุนได้รอบทิศทางเวลาที่เป่า โหวดเป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าไม่มีลิ้น ลักษณะเสียงโหวดเกิดจากการเป่าแบบผิวปาก เช่นเดียวกับการเป่าปากขวด
ในสมัยโบราณนิยมเอาโหวดมาเหวี่ยงเพื่อแข่งขันกัน เพื่อทำให้เกิดเสียงดังและมักจะ แข่งกันระหว่างที่ออกไปเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ในช่วงระหว่างหน้าหนาวประมาณเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม ซึ่งลักษณะของโหวดที่ขว้างนั้นแตกต่างจากโหวดที่ใช้เป็น เครื่องดนตรีในสมัยปัจจุบัน คือลูกโหวดทำด้วยไม้ไผ่เหลาให้บาง ๆ เอาชันรงติดระหว่าง ลูกโหวดกับแกนไม้ที่ทำด้วยไม้ไผ่ที่ใช้ดินเหนียวติดด้านบนทำหัวที่ต่างไปจากโหวดที่ใช้เป่าคือ จะมีหางถ่วงให้ยาวประมาณ 1 วาเพื่อใช้สำหรับจับควงแล้วขว้างออกไป เพื่อทำให้เกิดเสียงดัง วิธีการเล่นคือ ถ้าใครสามารถที่จะขว้างได้ไกลและเสียงดังที่สุด ผู้นั้นจะเป็นฝ่ายชนะ ต่อมาได้นำมาดัดแปลง ใช้เป่าให้เกิดเสียง และเป่าเป็นลายต่าง ๆ แต่เดิมนั้นลูกโหวดมีเพียง 5 – 6 ลูกเท่านั้น ปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนลูกโหวดให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมีจำนวนลูกถึง 13 ลูกเท่ากันกับโปงลาง เสียงเหมือนและเท่ากันกับโปงลาง โดยเปลี่ยนลูกโหวดจากไม่ไผ่ที่เหลาให้บางมาเป็นไม้กู่แคน

ในปัจจุบันโหวดสามารถนำมาใช้บรรเลงเข้ากับเครื่องดนตรีพื้นเมืองได้ทุกชนิด โหวดเหมาะสำหรับเดี่ยวหรือเป่าลายเพลงช้า ๆ เพราะเสียงของโหวดที่เป่าออกมานั้นฟังแล้วมีความรู้สึกเยือกเย็น โหยหวน เข้ากับบรรยากาศในยามเย็นได้เป็นอย่างดี และบางท่วงทำนองทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเร้าใจ

เครื่องตี
โปงลาง
เป็นเครื่องดนตรีประเภทเคาะทำนองและจังหวะไปพร้อมกันแบบเดียวกับระนาดและเปียนโน ชาวอีสานใช้มานานแล้ว แต่คงจะเกิดภายหลังแคนเพราะเพลงที่ใช้กับโปงลางเป็นเพลงลายแคนแทบทั้งสิ้น ลายแคนเองก็มีลายโปงลางซึ่งเป็นทำนองที่หมอแคนแต่งขึ้นจากความบันดาลใจจากเสียงโปงลาง
โปงลางนั้นบางแห่งจะเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากเตอะเติน เป็นเครื่องดนตรี ที่พัฒนามาจาก เกราะลอ หรือ ขอลอ เดิมที่ท้าวพรหมโคตรได้อพยพมาจากประเทศลาวเข้ามาอยู่ที่ฝั่งไทย ได้คิด ทำเกราะลอโดยคิดเลียนแบบจากเกราะที่ใช้ตีตามหมู่บ้าน เมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องการเรียกลูกบ้านมาประชุมแจ้งเหตุ โดยนำเกราะลอที่ทำจากไม้มัดเรียงกันด้วยเถาวัลย์ มีอยู่ 6 ลูก 5 เสียง มีเสียง ซอล ลา โด เร มี ( ซอลสูง ) เพื่อตีไล่ฝูงนกฝูงกาที่มากินข้าวในไร่นา ต่อมาท้าวพรหมโคตร ได้ย้ายมาอยู่บ้านกลางหมื่น อำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ถ่ายทอดการตีเกราะลอให้นายปาน ต่อมานายปานเสียชีวิตลง นายขานเป็นน้องชายก็ได้สืบต่อการตีเกราะลอ ต่อมาและได้ถ่ายทอดให้ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งได้ทำการปรับปรุงการทำเกราะลอโดยใช้ไม้หมากหาด ซึ่งเป็น ไม้เนื้อแข็ง เวลาตีแล้วไม่บวมง่าย มีเสียงดังกังวาลมีการเพิ่มลูกจาก 9 ลูกเป็น 12 ลูก และ 13 ลูก เพิ่มจาก 5 เสียงเป็น 6 เสียง พร้อมกับคิดลายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นคือลาย อ่านหนังสือใหญ่ ลายอ่านหนังสือน้อย ลายสุดสะแนน ลายสร้อย และลาย เซ และได้เปลี่ยนชื่อจากเกราะลอมาเป็น โปงลาง แล้วนำโปงลางมาเล่นรวมวงกับ ดนตรีอีสานชนิดอื่น ๆ เช่น แคน ซอ พิณ กลองหาง หมากกั๊บแก๊บ ไห เกิดความไพเราะและได้รับความสนใจจากผู้ที่ได้รับชมทั่วไป
โปงลาง ได้รับการพัฒนามาจาก ขอลอจนสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2502 มีลูกเพิ่มขึ้นเป็น 12 – 13 ลูกในปีเดียวกันและให้ชื่อว่าโปงลาง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา( เปลื้อง ฉายรัศมี ,สัมภาษณ์ )

ประเภทของโปงลาง
เกราะลอ หรือ ขอลอ มี 6 ลูก 5 เสียง คือ เสียง ซอล ลา โด เร มี ซอล โปงมีอยู่ 3 ชนิดคือ
1. โปงใหญ่จะแขวนอยู่ตามวัด สำหรับตีบอกเวลา บอกเหตุ เช่น ยามวิกาล
2. ใช้ไม้กระทุ้ง เช่น ถั่งโปงลาง หมายถึง ตีโปงบอกเวลาพลบค่ำ
3. โปงเล็ก สำหรับใช้แขวนคอสัตว์เลี้ยงคือ ควาย และวัว
4. โปงโลหะ สำหรับแขวนคอช้าง มีการขุดค้นพบในยุคสัมฤทธิ์ที่บ้านเชียง
อำเภอ หนองหาร จังหวัด อุดรธานี
ชื่อที่นิยมเรียกตามท้องถิ่นของโปงลาง
1. หมากกลิ้งกล่อม นิยมเรียกในจังหวัดมุกดาหาร แถบบ้านหนองโอ ต. ยาง กิ่งโนนสูงและบ้านโพนสว่าง ต. กุดสิมคุ้มใหญ่ อ. เขาวง จ. กาฬสินธุ์
2. หมากเตอะเติ่น นิยมเรียกในเขต อ. คำม่วง จ. กาฬสินธุ์
3. หมากเติดเติ่ง นิยมเรียกในเขต อ. หนองพอก อ. เมยวดี อ. เมืองร้อยเอ็ด
4. หมากเกราะลอ นิยมเรียกในเขต อ. เมืองกาฬสินธุ์
โปงลาง เป็นชื่อเรียกที่นิยมเรียกกันทั่วไปทั้งประเทศ โดยนายเปลื้อง ฉายรัศมี ได้ใช้คำว่าโปงลางเป็นคนแรก
เพลงที่นิยมบรรเลงโปงลาง
ทำนองเพลงที่เรียกเป็นภาษาพื้นบ้านอีสานว่า ลาย ที่โปงลางบรรเลงมักนิยมบรรเลงตามลายแคน ซึ่งถือว่าเป็นลายหลักและเครื่องดนตรีแต่ละเครื่องก็จะนำเพลงจากลายแคนมาบรรเลงโดยยึดเพลงจากแคนและนำมาใส่ลูกเล่นของเครื่องดนตรีแต่ละประเภทแต่ละชิ้น และยังมีลายหลักหรือลายแม่บทอีกด้วย เช่น ลายใหญ่ ลายน้อย ลายสุดสะแนน ลายโป้งซ้าย ลายสร้อย ลายแมงภู่ตอมดอก ลายเซ ซึ่งเป็นลายเก่าแก่ แต่มีผู้ค้นคิดประดิษฐ์ทำนองใหม่ขึ้นมาอีกหลายลายคือ ลายกาเต้นก้อน ลายลมพัดพร้าว ลายเซิ้งผู้ไทย ลายนกไซบินข้ามทุ่ง และ ลายไล่งัว ( วัว ) ขึ้นภู ซึ่งแต่งโดย นายเปลื้อง ฉายรัศมี ส่วนลายสาวหยิกแม่ เป็นของ นายคำเขียน ม่องศิลป และลายรถไฟตกลางที่เป่าแคนอัดแผ่นเสียงครั้งแรก ๆ ประมาณปี พ.ศ.2498-2500 นอกจากนั้นโปงลางยังได้นำทำนองเพลงจากทางอีสานใต้มาบรรเลง เพราะว่า มีเสียงเหมือนกันกับโปงลาง คือ เสียง โด เร มี ซอล ลา ( นายเปลื้อง ฉายรัศมี ,สัมภาษณ์ )

กลองหาง
กลองหางเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ซึ่งในสมัยก่อน เรียกว่า กลองเส็ง กลองกิ่ง กลองแต้ กลองตุ้ม แล้วแต่พื้นที่และท้องถิ่น ซึ่งชาวบ้านนิยมนำเอาไม้เนื้อแข็งมาขุดเป็นกลอง ลักษณะของกลองจะเป็นแบบลักษณะง่าย ๆ ไม่สลับสับซ้อน จะนำไม้เนื้อแข็งมาแล้วนำมาเจาะให้ตรงกลางให้ทะลุถึงกันได้ จากนั้นก็ขึงหน้าด้วยหนังสัตว์หรือหนังวัว เพราะบางและทนทานไม่นิยมขึ้นหน้าด้วยหนังควาย เพราะหนังควายหนามากทำให้เสียงออกมาเสียงไม่โป่รงใสเท่ากับหนังวัว และนิยมขึ้นหนังเพียงหน้าเดียว ใช้ตีแห่ในงานต่าง ๆ โดยมีกลองแค่ใบเดียว ต่อมาได้มีการนำเข้ามาบรรเลงกับวงโปงลาง ได้นำเอากลองยาวเข้ามาแห่ด้วย แต่ในบางพื้นที่ก็นิยมเอากลองยาว 4 ใบที่เสียงสูง ต่ำ ขึ้นหน้ากลองให้ตึงกว่าเดิมโดยจะตั้งเสียงที่การไล่เสียงจากเสียงสูงไปหาเสียงต่ำลดหลั่นกันไป โดยไม่ต้องใช้ข้าวเหนียวติดที่หน้ากลอง และต่อมาจากนั้น ชาวบ้านจึงนิยมนำกลองยาวมาร่วมในการบรรเลงกับวงดนตรีโปงลางโดยขึ้นหนังหน้ากลองใหม่และเรียกชื่อขึ้นมาใหม่ว่ากลองหาง โดยกลองหางเป็นกลองที่มีขนาดเท่า ๆ กับกลองยาว มีขนาดความยาวประมาณ 80 เซนติเมตรขึ้นไป ลักษณะรูปร่างคอตตรงส่วนกลางและมีส่วนหางกลองกว้างขนาดเท่ากับส่วนหน้ากลอง หน้ากลองโดยทั่วไปมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร กลองยาวนิยมใช้ตีประกอบขบวนแห่ต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปมักใช้กลองยาวประมาณ 3-4 ใบกับกลองรำมะนาใบใหญ่ 1 ใบ ซึ่งเป็นกลองเสียงทุ้มและเครื่องประกอบจังหวะ ( ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์ , สัมภาษณ์ )

การเรียนการสอนในวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ซึ่งแบ่งการเรียนการสอนออกเป็นสองด้านใหญ่ ๆ คือ การสอนทางด้านนาฎศิลป์การแสดง และด้านดนตรี โดยการเรียนทางด้านดนตรีจะมีเครื่องดนตรีอีสานดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้มาเป็นแนวทางในการเรียนการสอนโดยวิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์ ได้นำเอาเครื่องดนตรีดังกล่าวมาแยกการเรียนการสอนออกเป็น เครื่องเดี่ยวเป็นเครื่องเอก และเครื่องโท ซึ่งจะแยกแต่ละประเภทสอนก่อน แล้วจึงนำมาสอนรวมกันเป็นวง

วิธีการสอน
แบ่งออกเป็น 3 ระดับ
1. ระดับขั้นพื้นฐาน อาจารย์จะให้นักเรียนฝึกการปฏิบัติดนตรีและการสอนให้นักเรียนรู้จักที่มาของประวัติของเครื่องดนตรี
2. ระดับขั้นกลาง อาจารย์ผู้สอนจะให้นักเรียนฝึกภาคปฏิบัติเครื่องดนตรีจนจบเพลงบรรเลงและประกอบการแสดง
3. ระดับขั้นสูง อาจารย์ให้นักเรียนต่อเพลงเดี่ยวโดยที่ให้นักเรียนเขียนโน้ตพร้อมทั้งแต่งเพลงเอง
หลักการสอนในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ อาจารย์ผู้สอนแบ่งหลักการสอนดังนี้
1. การฟัง คือการรู้จักสังเกตในเสียงต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามายังโสตประสาท
– อาจารย์นำเทปบันทึกเสียงของตัวโน้ตในแต่ละเสียง เช่น โด เร มี ฟา ซอล ลา ที มาเปิดให้นักเรียนฟังและให้นักเรียนตอบคำถามโดยอาจารย์เปิดเสียงของตัวโน้ตที่ละตัวโดยอาจารย์จะยึดเอาเสียงตัว โด เป็นเสียงหลัก
– อาจารย์นำเอาเทปบันทึกเสียงเพลงที่มีจังหวะ ทำนองเพลง มาเปิดให้นักเรียน โดย จังหวะ ทำนอง เป็น จังหวะ ทำนองเพลงพื้นฐาน เช่น เซิ้ง ภูไท ลำเพลิน ชะชะช่า มโหรีอีสาน และให้นักเรียนบอกจังหวะทำนองของเพลงได้อย่างถูกต้อง
– อาจารย์นำเทปบันทึกเสียงของครูดนตรี ที่บรรเลงในวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน วงโปงลางของแต่ละคนและหาความแตกต่างในเพลงเดียวกัน หาจุดเด่น และจุดด้อยในการบรรเลงดนตรีของครูดนตรีแต่ละคน และจึงนำมาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น
2. การดู อาจารย์ผู้สอนจะสาธิตให้นักเรียนได้ดูเป็นตัวอย่าง
– อาจารย์จะนำเอาวีดีโอเทปมาเปิดให้นักเรียนดู เช่น ลักษณะการบรรเลงเดี่ยว การบรรเลงรวมวง การจัดรูปแบบการแสดง การวางตัว มาเปิดให้นักเรียนดู
– อาจารย์สาธิตโดย ทำให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่าง เช่น ท่าทางการบรรเลง ท่าทางการวางตัวในการเล่นดนตรี การจัดรูปแบบการและการแสดง เป็นต้น
– อาจารย์จัดให้มีการทัศนะศึกษา โดยอาจารย์จะพานักเรียนไปดูการแสดงจากวงดนตรีโปงลางจากที่ต่าง ๆ เช่น การเปิดการแสดงของวงโปงลางจากคณะต่าง ๆ เช่นคณะหนุ่มมะพร้าวห้าวสาวดอกคูณ คณะโคกภูไท คณะหนุ่มภูไท คณะพิณแคนแดนอีสาน เป็นต้น
– อาจารย์พานักเรียนไปดูการแข่งขันโดยอาจารย์จะแนะนำให้ไปชมการประกวดวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน วงโปงลางตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการจัดการประกวดขึ้นตามสถานะภาพ
3. การนำไปปฏิบัติ คือการฝึกฝนให้สอดคล้องและนำไปปฏิบัติในการบรรเลงรวมวง
– จัดให้นักเรียนมีการแสดงออกเช่น การแสดงแบบการบรรเลงเดี่ยว การแสดงแบบบรรเลงรวมวง โดยอาจารย์จะมีการประเมินผลการเรียนในแต่ละภาคเรียน
– จัดให้มีการประกวดดนตรีวงโปงลางในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ และในแต่ละชั้นเรียน โดยให้นักเรียนจัดกลุ่มการแสดงแบบรวมวง มาสมัครเข้าประกวดแข่งขันกัน โดยการแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ละ 7-8 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบรรเลงแบบเครื่องเดี่ยว เช่น ในวงจะมีเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น เช่น โปงลาง พิณ แคน ซอ โหวด กลองหาง พิณเบส อย่างละชิ้นเท่านั้น อาจารย์จะมีการประเมินผลกการเรียนในการประกวดด้วย โดยจะดูจากความพร้อมเพียง ความสามัคคี ความเป็นระเบียบวินัย เป็นต้น
ขั้นตอนในการสอนในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
1 อธิบายถึงประวัติของเครื่องดนตรี
– อาจารย์อธิบายถึงประวัติของเครื่องดนตรี ลักษณะการบรรเลง ความเป็นมาของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด แต่ละประเภท เช่น เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องดี เครื่องเป่า ครูอธิบายยกตัวอย่าง เช่น เครื่องดีด ได้แก่พิณ เครื่องสี ได้แก่ซอ เครื่องตี ได้แก่โปงลาง เครื่องเป่า ได้แก่แคน
– อาจารย์อธิบายถึงจังหวะทำนองของเพลง เช่น ครูอธิบายให้นักเรียนเข้าใจพร้อมทั้งแสดงตัวอย่างให้นักเรียนเห็นอย่างชัดเจน เช่นการบรรเลงพิณ การบรรเลงแคนการบรรเลงพิณเบส การบรรเลงกลองหาง เป็นต้น
2 ให้นักเรียนฝึกปฏิบัติกับเครื่องดนตรี
– อาจารย์ให้นักเรียนฝึกปฏิบัติกับเครื่องดนตรีโดยอาจารย์จะให้นักเรียนหัดตั้งสาย การฝึกไล่เสียง การไล่โน้ต การสบัด การกรอ การฝึกการบรรเลงเดี่ยว และการฝึกการบรรเลงการรวมวง และอาจารย์ให้นักเรียนต่อเพลงโดยการแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ และต่อเพลงแบบตัวต่อตัว
3 ให้นักเรียนรู้จักการแต่งเพลงและวรรคตอนของเพลงได้อย่างถูกต้อง
– อาจารย์ให้นักเรียนฝึกแต่งเพลงที่ใช้เกริ่น ทำให้นักเรียนจะมีความคิดสร้างสรรค์ในการแต่งเป็นอย่างมากเพราะการเกริ่นขึ้นเพลงนี้จะอาศัยการนึกคิด จิตนาการ ความสามารถ โดยลักษณะการเกริ่นนี้นักเรียนสามารถจะดูตัวอย่างได้จากเพลงที่มีอย่างมากมาย เช่น เกริ่นขึ้นเพลงลำเพลิน เพลงสังข์ศิลป์ชัย เป็นต้น
– อาจารย์ให้นักเรียนฝึกการแต่งทำนองหลักและการแต่งทำนองย่อยโดยอาจารย์จะเป็นผู้แนะนำเกี่ยวกับการแต่งทำนองหลักและทำนองย่อยการถ่ายทอดเพลงในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
1 อธิบาย
– อาจารย์อธิบายถึงลักษณะการบรรเลงแบบการบรรเลงเดี่ยว โดยจะเน้นถึงอารมณ์ของบทเพลง การประสานเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละเครื่อง
2 เขียนเป็นตัวโน้ตเพลง
– อาจารย์เขียนโน้ตลงในกระดาษชาร์ตแผ่นใหญ่และให้นักเรียนท่องจดจำ โดยอาจารย์จะให้นักเรียนมีสมุดบันทึกโน้ตเล่มเล็กประจำตัวของแต่ละคน และให้นักเรียนจำโน้ตเพลงให้ได้
3 วิธีปฏิบัติในการต่อเพลงเป็นกลุ่ม ๆ หรือตัวต่อตัว
– อาจารย์จะให้นักเรียนแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่ม ๆ โดยให้นักเรียนจับกลุ่มเครื่องดนตรีที่เหมือนกันอยู่ด้วยกันและอาจารย์จะต่อเพลงให้นักเรียนดูพร้อม ๆ กันแต่ละกลุ่ม ลักษณะการต่อแบบตัวต่อตัวก็จะเป็นแบบ การต่อเพลงเดี่ยวเพราะการต่อเพลงเดี่ยวนี้นักเรียนจะต้องมีสมาธิในการจดจำเป็นอย่างมาก และสมองของนักเรียนแต่ละคนก็จะมีขีดความสามารถในการรับรู้ที่จำกัดและไม่เท่ากัน และไม่ว่าจะเป็นนักเรียนชั้นใดก็มีสิทธิ์ที่จะต่อเพลงเดี่ยวได้ โดยขึ้นอยู่กับความสามรถของเด็กนักเรียนแต่ละคน
จุดประสงค์ของการจัดตั้งชมรมดนตรีพื้นบ้านอีสานวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
– เพื่อให้นักเรียนเกิดการแสดงออกอย่างเสรี ทั้งด้านความรู้สึกและความคิด โดย
อาศัยศิลปะเป็นสื่อ เพื่อให้ค้นพบศักยภาพของตนเพื่อการพัฒนาต่อ ๆ ไป
– เพื่อให้รู้คุณค่าทางศิลปะ อันจะทำให้เกิดความนิยมชมชื่นในศิลปวัฒนธรรมไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาศิลปะพื้นบ้านอีสานอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน
– เพื่อให้รู้จักใช้ความรู้ ประสบการณ์ทางศิลปะให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
– เพื่อให้ใฝ่หาความรู้ความชำนาญ ด้านศิลปะ และเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีใน
การทำงานด้วยตนเองและร่วมกับผู้อื่น
– เพื่อให้สำนึกในคุณค่า ความงามของธรรมชาติ และการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างเหมาะสม
( ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์ , สัมภาษณ์ )
จำนวนนักศึกษาในแต่ละชั้นปีในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ( สาขาดนตรีพื้นบ้านอีสาน )
– มัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวนนักเรียน 30 คน
– มัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวนนักเรียน 25 คน
– มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนนักเรียน 30 คน
– มัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวนนักเรียน 40 คน
– มัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวนนักเรียน 20 คน
– มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียน 35 คน   ( ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์ , สัมภาษณ์ )

ค่าใช้จ่ายในการแสดง
วิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์จะคิดค่าใช้จ่ายเป็นระยะทางดังนี้ เช่น
– จังหวัดขอนแก่น 25,000 – 30,000 บาท
– จังหวัดนครราชสีมา 40,000 – 45,000 บาท
– จังหวัดกรุงเทพฯ 50,000 – 60,000 บาท   ( จันทนา โกศลศาสตร์ , สัมภาษณ์ )

ผลสัมฤทธิ์ขั้นต่ำ
– นักเรียนต้องรู้จักจังหวะและสามารถบอกจังหวะของกลองหาง และพิณเบสได้
– นักเรียนจะต้องบรรเลงเพลงเดี่ยวได้ โดยจะต้องมีเครื่องดนตรีเครื่องเอกของคน
– นักเรียนที่จบจากวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์จะต้องบรรเลงรวมวงได้ทุกคน
( ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์ , สัมภาษณ์ )

งานที่วงดนตรีพื้นบ้านอีสานวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ออกแสดง ได้แก่
– งานแต่งงาน   – งานบวช   – งานขึ้นบ้านใหม่   – งานศพ   – งานวันเกิด   – งานมหรสพต่าง ๆ อีกมากมาย
ซึ่งวงดนตรีพื้นบ้านวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ วงโปงลางออกแสดงในปีหนึ่ง ๆ จะออกเเสดงไม่ ต่ำกว่า 100 ครั้ง  ( ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์ , สัมภาษณ์ )

บทที่ 3 ลักษณะการบรรเลงรวมวงของวงโปงลางวิทยาลัยกาฬสินธุ์
ขึ้นชี่อว่าวงดนตรีแล้วการเป็นทีมที่ดีนั้นนักดนตรีและเครื่องดนตรีจะต้องเป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน เสียงของเครื่องดนตรีแต่ละเครื่องนั้นจะต้องปรับแต่งเสียงให้มีระดับที่เท่ากัน ในการเล่นดนตรีทุกครั้งจะต้องมีการเทียบเสียง โดยเฉพาะวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีต่าง ๆ มากมาย หลายๆ ชิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องให้เสียงของเครื่องดนตรีทุกชิ้นมีเสียงเท่ากันและมีความกลมกลืน การตั้งเสียงของวงดนตรีสากล สำหรับเครื่องดนตรีที่มีสายนั้น นักดนตรีจะต้องตั้งเสียงจากเครื่องตั้งเสียง ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก แต่สำหรับการตั้งเสียงของวงดนตรีพื้นบ้านอีสานนั้น จะแตกต่างกัน คือ นักดนตรียังคงต้องตั้งเสียงแบบเดิม ๆ อยู่ จะต้องใช้หูฟัง และ เทียบเสียงเอง โดยการตั้งจะต้องอาศัยเสียงของ แคน หรือ โปงลาง เป็นหลัก โดยหมอแคน หรือ หมอโปงลางจะตีเสียง เร และเสียง ลา ให้ คนที่เล่นพิณและเบสพื้นบ้านก็จะตั้งเสียงตามนั้น

ลักษณะของเพลงที่ใช้เปิดวง
เป็นเพลงที่มีลักษณะทำนองรวดเร็ว กระชับ คึกครื้น สนุกสนาน เพราะการเปิดวงนี้จะเป็นเพลงที่ใช้ดึงดูดความสนใจจากคนดู และทำให้คนดูสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตอนที่ นางไหซองออกมาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นางเอกของวง เพราะในวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน วงโปงลางจะมีผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้น และเป็นผู้ที่เพิ่มสีสันให้กับวงดนตรี เพราะนักดนตรีส่วนใหญ่เป็นผู้ชายทั้งหมด โดยเพลงเปิดวงนี้เป็นชื่อเพลงเฉพาะ นักดนตรีส่วนใหญ่จะเรียกว่า เพลงเปิดวง ซึ่งเพลงเปิดวงนี้ในแต่ละวงหรือแต่ละที่จะมีเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของวงตนเองโดยจะอาศัยจุดเด่นของวงเป็นจุดขาย
ลักษณะกลุ่มเพลงที่ใช้ในการบรรเลง
โดยทั่วไปแล้วการแสดงอะไรก็ตามจะต้องมีการดึงดูดความสนใจจากผู้ชมให้มากที่สุด และไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อหน่าย การแสดงดนตรีก็เช่นกัน จะต้องจัดและหาเพลงที่ผู้ชมฟังแล้วทำให้เกิดความรู้สึกสนุกสนาน แจ่มใส ชอบในบทเพลงนั้น ๆ และไม่ซ้ำซากนัก การบรรเลงเพลงของวงโปงลางจึงจัดแบ่งเพลงออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
กลุ่มเพลงจังหวะช้า เป็นเพลงประเภทที่มีจังหวะช้า มีความไพเราะ ซึ่งแฝงไปด้วย
ความเศร้า รันทด นิยมบรรเลงต่อจากเพลงเปิดวง หรือบรรเลงหลังการแนะนำเครื่องดนตรี เช่น แนะนำประวัติของโปงลาง ต่อจากนั้นก็จะต่อด้วยเพลง รำโปงลาง ภูไทยเลาะตูบ ลำตังหวาย หรือภูไทสามเผ่า เป็นต้น โดยจังหวะของเพลงจะช้า จะโดดเด่นที่จังหวะของกลองหาง โดยใช้จังหวะภูไท ซึ่งเป็นจังหวะกลองช้า
กลุ่มเพลงจังหวะปานกลาง เป็นเพลงที่มีอัตราจังหวะปานกลาง ไพเราะ น่าฟัง และแฝงไปด้วยความเศร้าสร้อยเช่นกัน โดยจะสังเกตได้จากสำเนียงของเพลง ลักษณะของทำนอง เช่น เพลงเซิ้งโปงลาง เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งอีสานเป็นต้น การตีกลองจะตีในจังหวะลำเพลินซึ่งจังหวะลำเพลินนี้จะสามารถตีได้ทั้งจังหวะ ปานกลาง และจังหวะเร็วขึ้นไปได้เรื่อย ๆ เพลงจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับคนตีกลองหาง
กลุ่มจังหวะเพลงเร็ว เป็นบทเพลงที่มีจังหวะรวดเร็ว ไพเราะ สนุกสนาน กระชับ โดยจะอาศัยพิณเป็นเครื่องดนตรีทำทำนองหลัก จังหวะของกลองหางนี้สามารถตีได้ทั้งจังหวะ ลำเพลิน และจังหวะช่ะช่ะช่า ถ้าเปรียบเทียบกับดนตรีไทยจังหวะนี้ก็เท่ากับอัตราจังหวะชั้นเดียว
( เปลื้อง ฉายรัศมี,สัมภาษณ์ )

ลักษณะของกลุ่มเพลงข้างต้นนี้ การบรรเลงจะมีการสับเปลี่ยนทำนองกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกเบื่อหน่าย เช่นบรรเลงเพลงช้า 2 เพลง แล้วเปลี่ยนมาเกริ่นแคนก่อนประมาณ 2 นาที แล้วมาบรรเลงเพลงเร็ว ต่อจากนั้นมาแนะนำไหซองเพื่อให้ความบันเทิง แก่ท่านผู้ชมแล้วค่อยบรรเลงเพลงช้าต่อ เช่นนี้จะทำให้คนดูอยากที่จะออกมาร่วมสนุกด้วย เพราะดนตรีโปงลางนี้จะเน้นกันตรงที่ให้ความสนุกสนาน ความบันเทิง และเป็นการผ่อนคลาย ความตรึงเครียดจากการทำงานเป็นหลัก การแสดงโดยทั่วไปของวงโปงลางจะมีการนำเสนอที่มีลักษณะที่คล้ายกัน
การจัดลำดับเพลงในวงโปงลางและลำดับการแสดงมีดังนี้
1. ดนตรีบรรเลงเพลงเปิดวง
2. นางไหออกมารำโชว์ข้างหน้าเวทีและเข้าดีดไห
3. กล่าวต้อนรับและแนะนำพิธีกรประจำวง
4. พิธีกรกล่าวทักทายท่านผู้ชมและพูดถึงประวัติความเป็นมาของวง
5. ดนตรีบรรเลงเพลงมีจังหวะช้า 1 เพลงเป็นเพลงที่ใช้ขั้นระหว่างการแสดง เช่นเพลงภูไทสามเผ่า ซึ่งในบทเพลงนี้จะมีการบรรเลงการออกเดี่ยวของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น
6. พิธีกรออกมากล่าวเปิดชุดการแสดง และเล่าประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับชุด การแสดง
7. การแสดงรำที่มีอัตราจังหวะที่ช้า เช่น เพลงรำบายศรีสู่ขวัญ เพลงรำตังหวาย หรือเพลง ภูไทสามเผ่า
8. คั่นรายการโดยการร้องเพลง เช่น เพลงภูไท หรือเพลงลูกทุ่ง เช่น เพลงยาใจคนจน น้ำตาลาไทร
9. การแสดงชุดรำที่มีจังหวะเร็วและกระชับขึ้น เช่น รำเซิ้งบั้งไฟ รำเต้ย รำแข่งเรือ
10. ขั้นรายการโดยการร้องเพลงเร็ว เช่นเพลงโบว์รักสีดำ น้ำตาเมียซาอุ สาวชัยภูมิ
11. แสดงชุดรำที่มีจังหวะสนุกสนานคึกคัก เช่น รำดึงครกดึงสาก รำสังข์ศิลป์ชัย ลำเพลิน
12. แนะนำเครื่องดนตรี เริ่มจากการแนะนำเครื่องดีดก่อน เช่น แนะนำพิณ อาจจะเล่าถึงประวัติความเป็นมาก่อน แล้วนักแสดงดีดให้ท่านผู้ชมดูโดยการดีดเดี่ยวก่อนในตอนแรกและรวมเข้ากันเป็นวง กลองหางส่งและรับพร้อมกัน อาจจะออกเพลงลำเพลินหรือ เพลงสังข์ศิลป์ชัยโดยส่วนมากการแนะนำพิณนี้จะบรรเลงเพลงที่มีจังหวะที่เร็วต่อท้าย ต่อจากนั้นแนะนำเครื่องสี คือซอปี๊บ หรือซอกระป๋อง เพลงที่บรรเลงโดยการใช้ซอนี้ส่วนมาเป็นการเกริ่นขึ้นเพลง เสียงซอสั่งสาว หงส์ทองคะนองกรุง เพลงส้มตำ ต่อจากนั้นแนะนำเครื่องตีโดยเริ่มจากเครื่องเอกของวงคือ โปงลาง เป็นการโชว์เพลงลายโปงลาง แนะนำเครื่องเป่าโดยส่วนใหญ่มักจะแนะนำโหวดก่อน แล้วจึงตามด้วยการแนะนำแคนโดยส่วนมากจะให้หมอแคนกล่าวถึงประวัติของแคนก่อน ต่อจากนั้นก็ให้หมอแคนสาธิตวิธีเป่าให้ท่านผู้ชมดู แนะนำไหซองโดยการแนะนำไหซองนี้จะแตกต่างจากการแนะนำเครื่องดนตรีแต่ละชนิด คือจะแนะนำไหซองคู่กับพิณเบสและมีการตั้งชื่อของไหแต่ละใบ
13. บรรเลงต่อด้วย เพลงลำโปงลาง และเซิ้งโปงลาง ( หรือเพลงนกไซบินข้ามทุ่ง )
14. ต่อด้วยคำพังเพยของหมอแคนว่า สองมือกำเต้า แอวเด้าปากดูด ซึ่งเป็นคำขำขันของบรรดาหมอแคน
15. เริ่มแสดงชุดรำต่าง ๆ ออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั้งเห็นเวลาพอสมควร
16. พิธีการกล่าวลาท่านผู้ชม
17. ดนตรีบรรเลงเพลงลา เช่นเพลงเต้ยสามจังหวะ
18. จบการแสดง

หน้าที่หลักของเครื่องดนตรีแต่ละประเภท
พิณพื้นบ้าน เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดที่ใช้นำวงในปัจจุบัน ทำหน้าที่บรรเลงทำนองหลักในลายเพลงต่าง ๆ เป็นทั้งเครื่องดนตรีที่ทำทำนอง และจังหวะในตัวเดียวกัน พิณจะต้องอาศัยการดีดหรือการฝึกหัดจากคนที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูง พิณทั่วไปจะมีลักษณะการดีดแบบกีตาร์โซโล่ มือข้างซ้ายจะจับที่สายและกดลงเพื่อให้เกิดเสียงแล้วจึงเปลี่ยนตำแหน่ง มือข้างขวาดีดที่บริเวณสายใกล้กับกล่องเสียง การบรรเลงรวมวงพิณจะบรรเลงทำนองทุก ๆ ตัวโน้ตของเพลงและนิยมใส่ลูกเล่นตามความเหมาะสมหรือทักษะของผู้บรรเลง ถ้าเพลง ที่จะใช้บรรเลงเป็นเพลงร้อง เช่น เพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง ก็จะใช้พิณเป็นเครื่องบรรเลงหลักซึ่ง จะเป็นเครื่องนำขึ้นเพลง โดยเพลงเหล่านี้เป็นที่รู้จักและทำชื่อเสียงให้กับนักร้องมาหลายต่อหลายคนแล้วเช่น เพลงสาวขอนแก่น สาวอุบลรอรัก สาวชัยภูมิ โบว์รักสีดำ ไทยดำรำพัน เป็นต้น ซึ่งเพลงเหล่านี้มี่ชื่อเสียงกึกก้องในวงการเพลงต่าง ๆ มากมาย

พิณเบส หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเบสพื้นบ้าน หน้าที่หลักในการบรรเลงรวมวงคือ เป็นตัวทำทำนองให้กับเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ จะบรรเลงเฉพาะลูกตกของเพลงนั้น ๆ โดยจะใช้ทำนองร่วมกันกับกลองหางจึงเป็นตัวเพิ่มความหนักแน่น ความไพเราะ และความกลมกลืนให้กับวง โดยพิณเบสจะมีลักษณะของเสียง ทุ้ม-ต่ำ ซึ่งเสียงและการบรรเลงตรงข้ามกับพิณ ในจังหวะของพิณเบสสามารถแบ่งทำนอได้ดังนี้จังหวะภูไท เป็นจังหวะที่ช้าไพเราะใช้กับเพลงที่บรรเลงเป็นส่วนใหญ่จังหวะลำเพลิน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าจังหวะหมอลำ เป็นจังหวะเร็วกระชับใช้ในเพลงบรรเลงเร็วและเพลงที่ร้องหมอลำจังหวะชะชะช่า เป็นจังหวะที่เร็วอีกจังหวะหนึ่งเช่นกัน ส่วนใหญ่ใช้บรรเลงกับเพลงที่เป็นเพลงลูกทุ่งและลูกกรุง
ทำนองเพลงของแนวเบสที่ใช้เล่นในลีลาของเพลงพื้นฐาน ดังนี้
แนวการเดินทำนองเพลงของเบสในจังหวะภูไท
ซลดร -ร-ร ซลดร -ร-ร ซลดร -ร-ร ซลดร -ร-ร
ซลดร -ร-ร ซลดร -ร-ร ซลดร -ร-ร ซลดร -ร-ร
แนวการเดินทำนองเพลงของเบสในจังหวะชะชะช่า
—- -ร-ล -ด-ด –ร- —- -ร-ล -ด-ด –ร-
—- -ร-ล -ด-ด –ร- —- -ร-ล -ด-ด –ร-
แนวการเดินทำนองเพลงของเบสในจังหวะลำเพลิน
—- -ล-ร -ร-ร -ร-ล —- -ล-ร -ร-ร -ร-ล
—- -ล-ร -ร-ร -ร-ล —- -ล-ร -ร-ร -ร-ล
ซอบั้ง หรือซออีสาน เป็นเครื่องดนตรีประเภทสี ใช้บรรเลงรวมวงโดยใช้สำเนียงหรือบรรเลงเพื่อทำให้เพลงนั้น ๆ เศร้า จะพบในเพลงที่มีจังหวะทำนองเพลงช้าเป็นส่วนใหญ่ หน้าที่หลักในการบรรเลงจะไม่บรรเลงทั้งเพลง จะบรรเลงสอดแทรกให้เข้ากับทำนองของพิณ เช่นเพลงที่หลาย ๆ รู้จักกันดี ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพฯ คือ เพลงส้มตำ โดยจะใช้ซอขึ้นที่ท่อนหัวและท่อนท้ายเพลง เป็นลักษณะเช่นนี้ เพื่อให้ถึงอารมณ์ต่าง ๆ
โปงลาง การบรรเลงโปงลาง ผู้เล่นจะจัดวางโปงลางขึ้นอยู่บนขาตั้งโดยให้ลูกเสียงต่ำอยู่ด้านบน เสียงสูงอยู่ด้านล่างผู้เล่นจะบรรเลงเป็นทำนองหลักหรือบรรเลงให้เครื่องดนตรี ชิ้นอื่น ๆ ออกเดี่ยว หรือเล่นลีลาต่าง ๆ ผู้เล่นจะบรรเลงทำนองไปเรื่อย ๆ จะไม่มีลูกเล่นต่าง ๆ มากนักในการบรรเลงรวมวง จะเป็นการบรรเลงแบบธรรมดาเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ถ้าบรรเลงเดี่ยวนี้ผู้เล่นจะใส่ลูกเล่นต่าง ๆ มากมายได้ตามความต้องการ

กลองหาง เป็นเครื่องดนตรีที่ทำทำนองและจังหวะโดยเพลงต่าง ๆ จะสนุกคึกคัก ก็ขึ้นอยู่กับคนตีกลอง เพราะกลองจะตีได้กระชับหรือไม่นั้นต้องอาศัยความชำนาญและการฝึกฝน โดยจังหวะของกลองหางแบ่งได้หลัก ๆ ดังนี้
ทำนองเซิ้ง ใช้ตีในเพลงที่เป็นจังหวะเซิ้งและจังหวะเพลงช้าและออกเร็วได้ด้วยการส่งกลองออกจังหวะลำเพลิน ลักษณะเด่นของจังหวะนี้ยังสามารถใช้ตีขึ้นเพลงได้อีกด้วย
ทำนองภูไท ใช้ขึ้นเพลงเช่นกันและเป็นจังหวะที่ช้าอีกจังหวะหนึ่ง ส่วนใหญ่ใช้บรรเลงในเพลงที่มีการกระกอบการรำเพื่อที่จะแสดงออกถึงท่ารำที่อ่อนช้อยและงดงาม
ทำนองมวยโบราณ เป็นจังหวะช้าที่และใช้บรรเลงในการแสดงรำเพลงมวยโบราณเท่านั้น
ทำนองมโหรีอีสาน จัดเป็นทำนองที่มีความสนุกสนานและกระชับขึ้นมาอีกในทำนองหนึ่งที่ต่อจากทำนองมวยโบราณ
ทำนองลำเพลิน มีลักษณะปานกลางถึงเร็ว ใช้กับเพลงได้หลาย ๆ เพลง ทั้งเพลงเร็วและเพลงช้าถึงปานกลาง
ทำนองชะชะช่า เป็นทำนองที่นำมาจากเพลงลูกทุ่งและลูกกรุงเป็นส่วนใหญ่
จังหวะกลองหางมี 6 จังหวะที่เป็นพื้นฐานดังนี้
จังหวะภูไท
–ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง
–ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง
–ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง
–ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง –ปะ- ติงติง-ติง
จังหวะเซิ้ง
—ปะ -ติง-ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง —ปะ -ติง-ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง
—ปะ -ติง-ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง —ปะ -ติง-ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง
—ปะ -ติง-ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง —ปะ -ติง-ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง
—ปะ -ติง-ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง —ปะ -ติง-ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง
จังหวะมโหรีอีสาน
—- —ติง -ติง– -ติง-ติง -ปะ– -ปะ-ติง -ติง– -ติง-ติง
—- —ติง -ติง– -ติง-ติง -ปะ– -ปะ-ติง -ติง– -ติง-ติง
—- —ติง -ติง– -ติง-ติง -ปะ– -ปะ-ติง -ติง– -ติง-ติง
—- —ติง -ติง– -ติง-ติง -ปะ– -ปะ-ติง -ติง– -ติง-ติง
จังหวะลำเพลิน
-ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง
-ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง
-ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง
-ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง -ปะ-ติง ติงติง-ติง
จังหวะมวยโบราณ
—ปะ —ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง —ปะ —ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง
—ปะ —ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง —ปะ —ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง
—ปะ —ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง —ปะ —ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง
—ปะ —ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง —ปะ —ติง -ติง-ปะ -ติง-ติง
จังหวะชะชะช่า
—- -ติง-ติง -ติง– -ติง-ติง —- -ติง-ติง -ติง– –ติง-
—- -ติง-ติง -ติง– -ติง-ติง —- -ติง-ติง -ติง– –ติง-
—- -ติง-ติง -ติง– -ติง-ติง —- -ติง-ติง -ติง– –ติง-
—- -ติง-ติง -ติง– -ติง-ติง —- -ติง-ติง -ติง– –ติง-
แคน เป็นเครื่องดนตรีที่เป่าประกอบการร้องลำในสมัยก่อน หมอแคนจะเป่าแคน อยู่ใกล้ ๆ กับหมอลำตลอดเวลา เพื่อไม่ให้หมอลำลำผิดคีย์ หรือเรียกอีอย่างหนึ่งว่า ผิดลาย แต่ในปัจจุบันนี้แคนเข้ามามีบทบาทในการบรรเลงรวมกับวงโปงลาง หน้าที่ของแคนคือ เป่าเป็นทำนอง หรือหมอแคนที่เก่ง ๆ จะเป่าเป็นประสานสอดแทรก ทำนองจังหวะต่าง ๆ เข้ากับพิณได้ หรืออาจจะเป่าเป็นทำนองหลักทางสั้น ทางยาวให้ก็ได้ โดยพิณจะบรรเลงทำนองต่าง ๆ สอดแทรก ไปด้วยลายต่าง ๆ หรือออกลายลำเพลินบ้าง ลายเซิ้งบ้างก็ได้ แคนและพิณจะบรรเลงด้วยลายเพลงสุดสะแนนซึ่งประกอบร้องลำนั้น ๆ ในเพลงร้องของลายเพลงสุดสะแนนด้วยก็ได้ ซึ่งในลายเพลงนี้จะใช้แคนเป็นตัวหลักในการบรรเลง
ลายแคน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลายใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ ลายแคนทางสั้น จะให้ความรู้สึกสนุกสนาน ซึ่งได้แก่
1. ลายสุดสะแนน เป็นลายที่นิยมมากที่สุดในการบรรเลงประกอบหมอลำ สุดสะแนนหมายถึง สายหรือเชือกแห่งความรัก บางครั้งเรียกว่า ลายสุดเมรุ
-ซ-ซ -ซ-ม -ซ-ม -ร-ด -ล-ด -ร-ด -ล-ด -ล-ด
–ลด -ม-ซ -ม-ซ -ลซม -มลซ -ด-ล -ซ-ม -ซ-ม
-ร-ด -ล-ด -ร-ด -ม-ด -ล-ซ -ซ-ซ —- -ล-ซ
-ร-ด -ล-ซ -ซ-ม -ร-ด -ล-ด -ร-ด -ล-ด -ล-ด
2. ลายโป้ซ้าย มีทำนองเช่นเดียวกับลายสุดสะแนนแต่มีเสียง สูงกว่า
-ซ-ล -ด-ร -ร-ด -ซ-ล -ด-ร -รดล ซลดร ฟรดล
-ด-ซ -ซ-ซ -ซ-ล -ซ-ฟ -ล-ซ -ฟ-ล ซลดร ฟรดล
3. ลายสร้อย มีเสียงแหลมสูงมาก นิยมเล่นเดี่ยวมากกว่าเล่นประกอบหมอลำ
-ร-ฟ -ร-ด -ซ-ล -ด-ล -ฟ-ซ -ฟ-ล -ซ-ล -ด-ล
-ฟ-ร -ฟ-ซ -ล-ด -ล-ซ -ฟ-ร -ฟ-ซ -ล-ฟ -ล-ซ
-ฟ-ร -ด-ร -ดด- -ดรด -ซ-ล -ร-ม –ดล -ซ-ซ
ลายแคนทางยาว จะให้อารมณ์เศร้า แบ่งเป็น
1. ลายใหญ่ เป็นลายที่มีเสียงต่ำ เป่าเป็นจังหวะช้ามาก เช่นเพลงลำโปงลาง
—ม -ซ-ล -ซ-ล —ล —ร -ด-ล -ซ-ล —ล
—ด -ร-ม -ร-ม —ม —ล -ซ-ม -ร-ม —ม
—ม -ซ-ล -ซ-ล —ล —ร -ด-ล -ซ-ล —ล
—ซ -ม-ล -ซ-ม —ม —ด -ร-ซ -ร-ม —ม
—ล -ซ-ม -ร-ม —ม —ด -ร-ซ -ร-ม —ม
-ม-ร -ด-ล -ซ-ล —ล -ม-ร -ด-ล -ซ-ล —ล
2. ลายน้อย เป็นลายที่มีเสียงสูง กว่าลายใหญ่เป่าเป็นจังหวะช้า
—ล -ด-ร -ด-ร —ร —ซ -ฟ-ร -ด-ร —ร
—ฟ -ซ-ล -ซ-ล —ล —ร -ด-ล -ซ-ล —ล
—ล -ด-ร -ด-ร —ร —ซ -ฟ-ร -ด-ร —ร
—ด -ล-ร -ด-ล —ล —ฟ -ซ-ล -ซ-ล —ล
—ร -ด-ล -ซ-ล —ล —ฟ -ซ-ล -ซ-ล —ล
-ล-ซ -ฟ-ร -ด-ร —ร -ล-ซ -ฟ-ร -ด-ร —ร
ลายเซ เป็นลายที่มีเสียงสูงกว่าลายน้อยให้อารมณ์เศร้าโศก ในการบรรเลงรวมวงผู้เป่าแคนจะเป่าลายแคนต่าง ๆ นี้และยังแยกเพลง ออกเป็นลายซึ่งสามารถเป่าได้มากมายโดยแล้วแต่ปฏิภาณของผู้เป่า
-ร-ล -ร-ร -ร-ด -ร-ร -ร-ด -ร-ฟ -ร-ร -ร-ซ
-ร-ร -ร-ด -ร-ร -ร-ล -ร-ซ -ร-ล -ร-ด -ร-ล
-ร-ซ -ร-ล -ร-ซ -ร-ด -ร-ร -ร-ล -ร-ล -ร-ล
โหวด หน้าที่หลักของการบรรเลงรวมวงของโหวดคือ เป็นการบรรเลงสอดแทรก ในเพลงต่าง ๆ โดยจะเน้นการออกเดี่ยวมากกว่า ( SOLO ) การเป่าโหวดจะไม่นิยมเป่าทั้งเพลง โดยจะอาศัยจุดเด่นของการเน้นเสียง ซึ่งมีหลักดังนี้
ช่วงเสียงยาวของบทเพลงควรเป่าเสียงอ้อน หรือเป่าผ่อนลมเป่า
ช่วงเสียงสั้นที่ต้องการให้เสียงสั้นควรเป่าตัดลม และเน้นเสียงให้ดัง
ช่วงเสียงยาวเมื่อต้องการให้เกิดเกิดอารมณ์ของเพลงควรเป่าสอดแทรก การสบัดเสียงให้ชัด การบรรเลงรวมวงของโหวดจะบรรเลงแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน และไม่ยากนัก
( ราชันย์ ฉายรัศมี , สัมภาษณ์ )

ลักษณะการบรรเลงเพลง
ทำนองเพลงพื้นบ้านอีสาน อาจแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ ทำนองร้อง ได้แก่ ลำต่าง ๆ และทำนองบรรเลง ได้แก่ ลายไม่บรรยายเรื่องและลายบรรยายเรื่อง ทำนองลำต่าง ๆ เช่น ลำพื้น ลำกลอน ลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน ลำเต้ย และทำนอง ของลายต่าง ๆ ทั้งสอง มีความสัมพันธ์กันจึงมีส่วนประกอบคล้ายกัน 3 ส่วนใหญ่ คือ (จันทนา โกศลศาสตร์ , สัมภาษณ์)
1. ทำนองขึ้นต้นหรือต้นทำนองเกริ่น เป็นการเริ่มต้นของเพลงเพื่อเตรียมผู้ฟังให้
พร้อมที่จะรับฟังตอนต่อไป เช่น ก่อนที่หมอลำจะลำเป็นเรื่องราวก็จะนำด้วยคำว่า โอ้ละหนาเสมอ หรือแคนที่เป่าลายใด ๆ ก็ตามต้องมีการเป่าเกริ่นนำก่อนเช่นเดียวกัน
2. ทำนองหลัก คือ ทำนองที่เป็นหัวใจของเพลง ผู้ที่คุ้นเคยเมื่อได้ฟังทำนองหลัก
สามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นเพลงอะไรหรือภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ลายอะไร แต่ละทำนองจะมีลักษณะเฉพาะของแต่ละเพลงผู้ฟังสามารถแยกความแตกต่างของลำและลายต่าง ๆ ได้จากทำนองหลักนี้
เพลงลำเพลิน
-ร-ฟ รฟซล ดลดซ -ฟซล -ร-ฟ รฟซล ดลดซ -ฟรฟ
-ล-ซ ฟซล ดลดซ -ฟซล -ร-ฟ รฟซล -ทลด -ทรล
-ร-ฟ รฟซล ดลดซ -ฟซล -ล-ซ -ฟซล ดลดซ -ฟรฟ
3. ทำนองย่อย หรือทำนองแยก หรือเรียกอีกอย่างว่าแตกทำนองเป็นทำนองที่ใช้
บันไดเสียงเดียวกันกับทำนองหลักแต่จะดำเนินทำนองให้แตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถและความชำนาญของผู้บรรเลงแต่ละคนในการลำก็เช่นเดียวกัน
เพลงลำเพลิน
-ร-ฟ รฟซล ดลดซ -ฟซล -ร-ฟ รฟซล ดลดซ -ฟรฟ
-ล-ซ -ฟซล ดลดซ -ฟซล —ร ดล-ร -ร-ด -ลซล
—ร ดล-ร -ร-ด -ลซล -ลดล ดซลฟ -ฟ-ซ -ล-ด
-ลรร -ลดร –ฟร -ลฟร -ล-ล -ฟ-ซ -ล-ร -รฟร
ฟรดล -ล-ด -ลซร -ซ-ร -ซ-ร -ซ-ร -ล-ซ -ฟซล
ดลดซ -ฟซล -ร-ฟ รฟซล -ทลร -ทรล -ร– ฟซฟ
ซฟซฟ -ด-ล -ร-ฟ รฟซล ดลดซ -ฟรฟ ลซ ฟซล
ฟด รลดร รล รฟ ซฟ ลฟ ซร ฟ
รด รซ ลซดซ ลรฟ ซฟร ซร ซฟร ซฟ
-ร-ฟ รฟซล ดลดซ -ฟซล -ร-ฟ รฟซล ดลดซ -ฟรฟ
ดังนั้นในการบรรเลงเพลงพื้นบ้านอีสานนั้น ในขั้นแรกจะเริ่มด้วยการเกริ่นเสียก่อน แล้วจึงดำเนินทำนองหลักอาจจะกลับไปกลับมา ดังนั้นการบรรเลงเพลงพื้นบ้านอีสานจะใช้ทำนองหลักเป็นตัวแกนในการบรรเลง
ลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านอีสาน
เพลงพื้นบ้านอีสาน เป็นศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมานานในชนเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน เพลงพื้นบ้านอีสานที่นิยมเล่นมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งแตกต่างจากภาคอื่น ๆ ดังนี้
1. ใช้บันไดเสียงแบบห้าเสียง ( โด เร มี ซอล ลา )
2. ท่วงทำนอง ออกไปทางบันไดเสียงไมเนอร์ จึงแฝงด้วยสำเนียงค่อนข้างจะให้อารมณ์เศร้า ซึ่งลักษณะเสียงไมเนอร์นี้เสียงที่ 2 ,3 และ 5 ,6 ห่างกันครึ่งเสียง
3. การประสานเสียงในเพลงไม่มีระบบ แต่สามารถบอกถึงลักษณะบันไดเสียงเป็นแบบไมเนอร์
4. ทำนองเพลงประกอบด้วยประโยคสั้น ๆ แต่สามารถบรรเลงวกไปเวียนมา ซ้ำ ๆ หลายครั้งได้ตามต้องการ
–รร -ด-ร -ลดร -รฟด -รฟร -ดรล -ด-ร -รดล
ฟรดล รลดซ ลฟซล -ลดซ -ล-ร -ด-ล -ลดซ -ล-ซ
-ฟ-ร -ฟรฟ -ซ-ล -ด-ล -ซ-ฟ -รดล -รดล ซลดร
5. ความช้า- เร็วของจังหวะอยู่ในระดับปานกลาง ไปจนถึงจังหวะค่อนข้างเร็ว
6. โครงสร้างของทำนองประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ ทำนองเกริ่น ทำนองหลัก และทำนองย่อย
7. ทำนองเพลงพื้นบ้าน ชาวบ้านเรียกว่า ลาย สืบทอดโดยการจดจำ จะไม่มีการบันทึกเป็นตัวโน้ต เพลงในอดีตจะไม่ค่อยมีการแต่งเติม ลายเพลงจึงมีไม่มากนัก ( ราชันย์ ฉายรัศมี , สัมภาษณ์ )
วิธีการเรียนการสอนการบรรเลงรวมวงในวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์
ลักษณะเพลงที่ใช้บรรเลง โปงลาง พิณ ซอ และโหวด เป็นทำนองเพลงที่นำมาจากลายแคนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลายใหญ่ ลายน้อย ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายนกไซบินข้ามทุ่ง ลายแมลงภู่ตอมดอก ลายลมพัดพร้าว ลายกาเต้นก้อน ฯลฯ โปงลาง พิณ แคน ซอ โหวด นี้ได้นำมารวมกันและบรรเลงรวมเป็นวงโดยมีเครื่องประกอบจังหวะ คือ พิณเบส กลองหาง ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง วงดนตรีพื้นบ้านอีสานวงโปงลางจะแบ่งเครื่องดนตรีต่าง ๆ ออกเป็น 4 ประเภท คือ ดีด สี ตี เป่า และเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนการสอน อาจารย์ที่สอนในวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์จะแบ่งกลุ่มสอนเป็น 2 กลุ่ม เช่น เครื่องดีด จะมีอาจารย์ผู้สอน 2 คน คือ สอนอ่านท่องเขียนโน้ต และสอนลงมือปฏิบัติ

วิธีการสอนปฏิบัติและทฤษฎี
การสอนทฤษฎี
การสอนทฤษฎีดนตรีในวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ ก็มีการสอนโดยเหมือน ๆ กันกับทุก ๆ ที่คือ มีการสอนเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเครื่องดนตรี ทักษะทางดนตรี ซึ่งทักษะทางดนตรีเป็นส่วนที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจสาระของดนตรีได้ และจัดเป็นหัวใจของการเรียนดนตรีสำหรับผู้ที่จะเป็นนักดนตรีมืออาชีพ ซึ่งทักษะดนตรีแต่ละประเภทย่อมมีความสำคัญที่ แตกต่างกันออกไป ทักษะนั้นก็จะประกอบไปด้วย การสอนทักษะการฟัง การร้อง การเล่น การเคลื่อนไหว การสร้างสรรค์ การอ่าน การเรียนการสอนทฤษฎีนี้ ในปัจจุบันจะเน้นหลักการอ่าน และการท่องจำเป็นส่วนใหญ่ การสอนทางด้านทฤษฎีสามารถลำดับการสอนทฤษฎีของลายเพลงหรือโน้ตเพลงในการเรียนการสอน ขั้นตอนนี้นักเรียนจะได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับพื้นฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน เช่น เรื่องของเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ทฤษฎีของจังหวะ ทำนองของจังหวะหรือเรื่องของลายเพลงในขั้นต้น จะทำการต่อลายเพลงโดยใช้การท่องจากปากเปล่าในทำนองเพลงหรือลาย เพื่อให้เกิดการจำในบทเพลงนั้น ๆ แต่เดิมนั้นการต่อ ลายเพลงจะเป็นลักษณะการต่อแบบตัวต่อตัว ครูผู้สอน แต่ในปัจจุบันส่วนมากการต่อในลักษณะนี้จะใช้กับการต่อลายเพลงขั้นสูงเท่านั้นส่วนมาเป็นลายเพลงที่ออกเดี่ยวในแต่ละอุปกรณ์ การต่อลายเพลงขั้นสูงจะต่อโดยการปฏิบัติหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เป็นการจดจำได้ดีและการต่อส่วนใหญ่เป็นการต่อแบบใช้ประสาทหู (Listening) ฟังเป็นส่วนเข้าช่วย เนื่องจากลายเพลงออกเดี่ยวระดับสูง ๆ จะมีลูกเล่นของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แต่กล่าวโดยรวมของทำนองก็คือ เพลงเดี่ยวกัน เมื่อนักเรียนเรียนรู้ทางด้านทฤษฎีพื้นฐานในระดับหนึ่งแล้ว นักเรียนก็จะสามารถที่จะฝึกการปฏิบัติเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ ได้ ( ณรุทธ์ สุทธจิตต์ . 2537 : 8)

การสอนปฏิบัติ
ในการเรียนการสอนด้านปฏิบัติ อาจารย์จะทำการแบ่งกลุ่มของนักเรียนในแต่ละเครื่องดนตรีออกประมาณกลุ่มละ 6-7 คน โดยจะมีอาจารย์ผู้ฝึกสอนให้ในแต่ละกลุ่ม ๆ ละ 1 คน ซึ่งวิธีการสอนอาจแบ่งได้ 3 ขั้นคือ
1. ระดับพื้นฐาน อาจารย์ผู้สอนจะสอนวิธีการปฏิบัติของเครื่องดนตรีแต่ละประเภทดังนี้
โปงลาง เป็นการฝึกแบบง่าย ๆ โดยการฝึกต่อลายเพลงพื้นฐาน ซึ่งอาศัยการย้ำจังหวะฝึกประสาทสัมผัสเกี่ยวกับจังหวะ และต่อลายเพลงลำโปงลาง ซึ่งเป็นลายช้า ๆ
แคน ในระดับเริ่มต้น แคนที่ฝึกจะเป็นการเป่าแบบไล่ระดับเสียงและเป็นการฝึกทักษะในการปิดรูเสียงของแคน โดยเริ่มจากโน้ต โด เร มี ฟา ซอล ลา ที กลับไปกลับมาเรื่อย ๆ จนคล้องและอาจารย์จะให้นักเรียนต่อเพลงลำโปงลางเช่นกัน และต่อด้วยเพลงเซิ้งโปงลาง
โหวด ในการฝึกเครื่องดนตรีอีสาน โหวดจะเป็นเครื่องดนตรีที่ง่ายที่สุด อาจารย์จะสอนนักเรียนให้รู้ถึงเทคนิคการเป่า การใช้ลม การฝึกตัดลมให้เสียงที่ออกมามีเสียงดังชัดเจน และให้ต่อเพลงพื้นฐานเช่นกัน
ซอ การฝึกซอนี้อาจารย์จะให้ฝึกกลุ่มเดียวกับพิณพื้นบ้าน เพราะลักษณะของตัวโน้ตเหมือน ๆ กัน โดยเฉพาะการบรรเลง แต่ซอจะต่างจากพิณคือ บรรเลงน้อยกว่าพิณเท่านั้น
พิณ การฝึกพิณนี้อาจารย์จะให้นักเรียนฝึกตั้งสาย การสอนอาจารย์จะสอนเพิ่มเติมจากทฤษฎี บอกถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ของพิณ การเล่นและเทคนิคของเพลงต่าง ๆ
กลองหาง การฝึกกลองหางนี้จะเป็นการฝึกที่คล้ายกันกับกลองยาว โดยจะให้นักเรียนฝึกจากการตีหน้า ปะ ให้ดังก่อน และฝึกตีหน้า ติง
พิณเบส เป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักกับจังหวะของเพลงในวงดนตรีพื้นบ้านอีสานซึ่งการฝึกพิณเบสนี้จะเป็นการเน้นหนักที่จังหวะเป็นส่วนใหญ่
2. ระดับกลาง อาจารย์ผู้สอนจะสอนวิธีการปฏิบัติของเครื่องดนตรีแต่ละประเภทดังนี้
โปงลาง ในการฝึกปฏิบัติขั้นกลางนี้ ผู้ฝึกต้องเรียนทฤษฎีเกี่ยวกับโน้ตมากขึ้น คือสามารถท่องโน้ตเพลงต่าง ๆ ได้ เนื่องจากในระดับกลางนี้ ลักษณะการเรียนจะเน้นการตี สลับมือ จะมีเทคนิคมากขั้นในการตีหลาย ๆ อย่าง เช่นการตีกรอ การสบัด การตีไล่ลูก และ การเกริ่นเป็นต้น ผู้เล่นในระดับนี้จะต้องฝึกลายเพลงทุกลายที่มี โดยครูผู้สอนจะเป็นผู้แนะนำเทคนิคการเล่นให้
แคน ผู้ฝึกในระดับกลางนี้จำเป็นจะต้องรู้จักจังหวะทำนองของลายเพลง ทุก ๆ เพลงละใช้ความจำอย่างมาก ในส่วนการฝึกของแคนจะต้องฝึกเทคนิคต่าง ๆ ในการเป่า เช่น การเป่าตัดลม การเกริ่น การพรมนิ้ว การเปลี่ยนบันไดเสียง ( การเปลี่ยนคีย์ ) ในระดับนี้ ผู้เรียน
จะสามารถเป่าตามโน้ตได้ และสามารถจดจำลายเพลงต่าง ๆ ได้ดี
โหวด อาจารย์จะให้นักเรียนฝึกการเป่าแบบลมยาว ๆ การตัดลมแบบใช้ลิ้น การจับและหมุนโหวด การเน้นทำนองและจังหวะของเสียง โดยเฉพาะการเป่าเดี่ยว การเป่าเกริ่น การเป่าเสียงให้มีความไพเราะของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไปซึ่งแล้วแต่ประสบการณ์
ซอ การฝึกในระดับนี้เป็นการฝึกแบบการเล่นแบบเดี่ยว ๆ เช่นการเกริ่น การสีแบบการด้นเพลง ซึ่งอาจารย์ผู้สอนจะสอนเรื่องการใช้ไหวพริบในการด้นเพลง
พิณ ในระดับกลางจะฝึกใส่โน้ตเพลงแต่ละลายเพลงให้มีความคล่องแคล่ว เป็นตัวเองในการบรรเลงสูง คือ ผู้เล่นสามารถที่จะใส่ทำนองอะไรลงไปก็ได้แต่ต้องให้ลงจังหวะและเข้ากับทำนองเพลงนั้น ๆ พิณจำเป็นที่จะต้องบรรเลงทำนองเพลงให้ได้ทุก ๆ ลายเพลง เพราะพิณจะเป็นตัวหลักในการทำทำนองเพลงของโปงลาง วงดนตรีพื้นบ้านอีสาน
กลองหาง อาจารย์เริ่มให้ฝึกการตีแบบเป็นทำนองเดี่ยว ๆ และฝึกการตี เป็นลูกต่อเนื่อง เช่น การส่งกลอง การตีลัดจังหวะ การตีแบบการเน้นเสียง การตีเป็นทำนองที่เป็น แบบพื้นฐาน คือทำนองภูไท ทำนองลำเพลิน ทำนองชะชะช่า
พิณเบส อาจารย์จะให้นักเรียนฝึกการฟังเป็นส่วนมาก โดยอาจารย์จะสอนการเล่นเฉพาะจังหวะพื้นฐาน และจากนั้นอาจารย์จะนำม้วนเทปมาให้นักเรียนฟังแล้วให้นักเรียนเล่นตาม
3. ระดับสูง อาจารย์ผู้สอนจะสอนวิธีการปฏิบัติของเครื่องดนตรีแต่ละประเภทดังนี้
โปงลาง เมื่อผู้เรียนฝึกการบรรเลงลายเพลงได้คล่องแคล่ว ถูกต้องมี ความสามารถในเรื่องของประสาท การฟังเพลง และการตีสลับสองมือ อาจารย์ผู้สอนจะให้ ทำการต่อลายเพลงชั้นสูงให้ คือ ลายเพลงกาเต้นก้อน ซึ่งลายเพลงในลักษณะนี้จะไม่มีโน้ตที่ เป็นหลัก โดยลักษณะทำนองของเพลงนี้ขึ้นอยู่กับผู้บรรเลง
แคน การเรียนการสอนในระดับนี้จะเป็นการเรียนการเป่าแบบเดี่ยว แคน ถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ยากที่สุดเพราะแคนสามารถเปลี่ยนคีย์ไปได้เรื่อย ๆ ลายเพลงของแคนระดับสูงคือลายเพลงเดี่ยวต่าง ๆ นี้เอง ซึ่งลักษณะของลายแคนในลักษณะนี้ก็เหมือนกันกับ ลายเพลงโปงลาง แคนยังมีเทคนิคอีกมากมายซึ่งผู้เล่นต้องอาศัยประสบการณ์ของตัวเองเป็นอย่างมาก
โหวด เป็นเครื่องดนตรีที่มีบทบาทในระดับสูงคือ ผู้เล่นจะต้องรู้จัก ช่วงทำนองของการบรรเลงของแต่ละลายเพลง อาจารย์ผู้สอนจะสอนการเป่าตั้งแต่ระดับต้นให้รู้ถึงระดับกลาง การเป่าเพลงที่ทำให้บทเพลงไพเราะมากยิ่งขึ้น โดยใช้เอกลักษณ์ของโหวด เช่นการเน้นเสียง เป็นต้น ส่วนลายเดี่ยวของโหวดก็จะบรรเลงตัวเดียวเช่นกับเครื่องดนตรีชิ้นอื่น
ซอ อาจารย์ผู้สอนจะสอนโดยให้นักเรียนฝึกเขียนโน้ตลายเพลงต่าง ๆ ฝึกการแต่เพลง โดยส่วนใหญ่จะให้ฝึกร้อยบทกลอนเพลง
พิณ อาจารย์ผู้สอนจะสอนในเรื่องการบรรเลงโดยจะให้จังหวะและทำนองต่าง ๆ มารวมกันจากนั้นก็ให้ก็ให้ผู้เรียนบรรเลงลายเพลงเข้าไป
กลองหาง อาจารย์ผู้สอนจะสอนเกี่ยวกับการส่งกลองให้มีความกลมกลืนกัน ผู้บรรเลงจะต้องเล่นได้ทุกจังหวะ และต้องส่งกลองเปลี่ยนจังหวะได้และชัดเจน
พิณเบส อาจารย์ผู้สอนจะสอนให้รู้ถึงจังหวะลูกตกต่าง ๆ ของเพลงซึ่งจะเป็นการเล่นแบบพื้นฐานแต่จะใส่จังหวะลูกตกลงไปเพื่อให้เกิดความไพเราะของลายเพลงมากขึ้น
ลักษณะการเรียนการสอนปฏิบัติอาจารย์และนักเรียนจะอยู่ด้วยกันลักษณะใกล้ชิดสนิทสนมกันมากโดยนักเรียนคนที่อยากได้วิชาหรือเพลงต่าง ๆ ให้มากก็จะอยู่รับใช้ปรนนิบัติอาจารย์และถ่ายทอดกันโดยวิธีมือต่อมือและกลเม็ดต่าง ๆ มากมาย โดยอาจารย์ยังคงลักษณะการต่อแบบโบราณ
ลักษณะการถ่ายทอดและการบรรเลงเพลงเดี่ยว
ลักษณะการต่อเพลงเดี่ยวนี้ จะเป็นลักษณะการต่อด้วยมือ โดยท่องจำ จะใช้การจดเป็นตัวโน้ตไม่ได้ คือ เด็กนักเรียนที่จะต่อเพลงเดี่ยวนี้ จะต้องเล่นเพลงหรือบรรเลงเพลงรวมวง ในวงได้ทั้งหมดทุกเพลงก่อน แล้วค่อยต่อเพลงเดี่ยว โดยการต่อเพลงเดี่ยวนี้อาจจะเล่นให้เด็ก นักเรียนจำไปทีละท่อนและให้นักเรียนเล่นตามไปจนคล่องแล้วค่อยต่อท่อนต่อไป จะใช้หลักการต่อแบบช้า ๆ แต่ให้จำได้ดี ลักษณะการบรรเลงเดี่ยวนี้จะมีลักษณะการเป็นตัวของตัวเองสูง คือ ใครอยากจะบรรเลงอย่างไรก็ได้ แต่ต้องให้อยู่ในทำนองหลักของเพลงนั้น ๆ โดยอาศัยความเป็นอัจฉริยะทางดนตรีสูงหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การอิมโพรไวเสชั่น ( IMPROVICESATION ) คือ การสร้างสรรค์บทเพลงให้มีความไพเราะแตกต่างกันออกไป จัดว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีความคิดเกี่ยวกับการประพันธ์เพลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยพัฒนาทักษะ หรือความสามารถในการประพันธ์เพลง
การรับศิษย์เข้าเรียน
การรับนักเรียนเข้าเรียน อาจารย์จะแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มนักเรียนที่มีพื้นฐานทางดนตรี หรือนักเรียนที่เล่นดนตรีได้บ้างแล้ว
อาจารย์จะให้นักเรียนเลือกเครื่องดนตรีที่นักเรียนชอบ หรือชนิดที่นักเรียนเล่นเก่งที่สุด และให้ยืดเอาเครื่องดนตรีเครื่องนั้นเป็นเครื่องมือเอก โดยการรับสมัคสอบคัดเลือกนักเรียนจาก
รับจากโครงการความสามารถพิเศษ โดยวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์จะเปิดรับสมัคนักเรียนในช่วงเดือนเมษายนของทุก ๆ ปี นักเรียนจะต้องเตรียมเครื่องดนตรีที่ตนถนัดไปเองหนึ่งชิ้นแต่สำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถนำเครื่องดนตรีมาได้ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์จะมีเตรียมไว้ให้หนึ่งชุด นักเรียนที่จะเลือกเรียนในสาขาดนตรีพื้นบ้านอีสานจะมีเพลงบังคับที่จะต้องสอบเพิ่มอีกหนึ่งเพลง คือเพลงเต้ยสามจังหวะ เพลงเต้ยพม่า เพลงเต้ยโขง เพลงเต้ยธรรมดา ( แล้วแต่ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์จะเป็นผู้กำหนด ) โดยส่วนมาแล้วนักเรียนรที่เข้าร่วมโครงการความสามารถพิเศษจะเป็นนักเรียนที่มีพื้นฐานทางดนตรี หรือจะเป็นนักเรียนที่เล่นดนตรีได้บ้างแล้ว
รับโดยการสอบคัดเลือกรวมกับสาขาอื่น ๆ โดยเปิดสอนในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุก ๆ ปี เริ่มโดยการสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติในวันนั้น ประมาณสองสัปดาห์ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์จะแจ้งผลการสอบให้นักเรียนได้ทราบและทำการสอบสัมภาษณ์แล้วนักเรียนเป็นผู้เลือกวิชาเอกและวิชาโท
2. กลุ่มนักเรียนที่ไม่มีพื้นฐานทางดนตรี อาจารย์จะให้นักเรียนฝึกเครื่องจังหวะก่อน โดยจะแยกแบ่งกลุ่มให้ฝึกเครื่องจังหวะในกลุ่มนี้จะเน้น กลองหาง และเบสพื้นบ้าน หลังจากนั้นก็ให้นักเรียนเลือกเครื่องดนตรีหลัก

บทที่ 4 วิเคราะห์วงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
วิเคราะห์วงโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ในอดีตและปัจจุบัน
ในรุ่นแรก
– พิณในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์นิยมบรรเลงแบบดีดทั้ง 3 สาย หรือ เรียกตามภาษาชาวบ้านว่าดีดสายควบโดยจะบรรเลง แบบเสียงประสาน
– ในสมัยก่อนวิทยาลันาฏศิลป์กาฬสินธุ์นิยมเอาสายเบรครถจักรยานมาทำเป็นสายพิณและสายมีขนาดที่เท่ากัน
– ในสมัยก่อนวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์จะไม่มีชุดรำการแสดง จะเป็นการบรรเลงอย่างเดียว
– สมัยก่อนวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ยังใช้บันได 5 เสียงอยู่ ( PENTATONIC ) โด เร มี ซอล ลา
– การบรรเลงดนตรีโปงลางในสมัยก่อนนั้นผู้บรรเลงวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์จะนั่งกับพื้นแต่เมื่อมีชุดการแสดงต่าง ๆ เข้ามาจึงทำให้นักดนตรีต้องยืนเล่นเพราะนักแสดงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจึงทำให้ไม่เหมาะกับการนั่งบรรเลงแบบเดิม
– ในสมัยก่อนการตีโปงลางในวงดนตรีพื้นบ้านอีสานวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์นิยมใช้ผู้ตี 2 คน ดนตรีทำนองและหมอเคาะเข้าด้านซ้ายมือของโปงลางหรือตีด้านหน้า ส่วนอีกคนหนึ่งจะเป็นผู้ตีจังหวะประสานเสียง ซึ่งต้องเคาะที่เสียงประสาน เทียบกับการติดสูดของหมอแคนนั่นเอง
– สมัยก่อนวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ใช้ไหซองบรรเลงรวมวงจริง ๆ และมีเสียงโดยการเทียบเสียงจากเครื่องดนตรีมีเสียง ลา กับเสียงมี หรือเสียง เร กับ เสียงลา และใช้ผู้ชายดีดมีเสียงเบา
– อดีตเสียงของโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ที่ใช้ในเพลงโปงลางมี 5 เสียงคือ โด เร มี ซอล ลา 5 เสียงเท่านั้นและยังไม่มีเพลงต่าง ๆ มากมายมีเพียงลายหลักๆ เช่น ลำเพลิน ลายภูไท ( ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์ , สัมภาษณ์ )
ในสมัยปัจจุบัน
– การบรรเลงรวมวงของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์พิณมีการพัฒนาการบรรเลงให้มีเสียงที่คมชัดคือ มีการบรรเลง แบบการดีดสายเดี่ยว
– เพลงที่ใช้บรรเลงในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์มีเนื้อเพลงที่ชัดเจนขึ้น และตายตัวโดยจะเห็นได้จาก การบรรเลงแบบเพลง “น้ำโตนตาด” จะมีการบรรเลงออกเดี่ยวออกเป็นอย่างละสองรอบ โดยเพลง จะมีทำนองเล่นซ้ำๆ กันเป็นลักษณะการบรรเลงล้อกันของแต่ละเครื่องดนตรี
– มีวงจรอีเล็คทรอนิค เครื่องขยายเสียง และเครื่องไฟฟ้าเข้ามาช่วย
– ในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์มีการพัฒนาบันไดเสียงครบทั้ง 7 เสียงเป็นแบบบันไดเสียงไมเนอร์ คือ มีเสียงตามบันไดเสียงคีย์ ซีไมเนอร์
– ในวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป็กาฬสินธุ์บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีครบทุกกลุ่ม ดีด สี ตี เป่า
– การแสดงโปงลางในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์มีผลต่อการดำรงชีวิตมากขึ้น และทำให้นักเรียนเป็นนักดนตรีที่เล่นเป็นอาชีพมากขึ้น
– การแสดงในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ครบทุกรูปแบบ มีทั้งแสง สี เสียง
– การแสดงของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ได้รับอิทธิพลดนตรีทางตะวันตกมากขึ้นจึงทำให้วัฒนธรรมเสื่อมถอยลง
– ในสมัยปัจจุบันในวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ผู้ตีโปงลางนิยมเล่นคนเดียวต่อหนึ่งลางทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเวลาและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
– ปัจจุบันในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ไหซองกลายเป็นการดีดเพื่อการแสดงและเปลี่ยนจากผู้ชายเป็นผู้หญิง และให้ผู้ชายดีดพิณเบส แทนไหซองและเสียงของพิณเบสที่ได้เสียงจะกระชับหนักแน่นกว่าไหซอง โดยใช้เครื่องขยายเสียงเข้ามาช่วย
– ปัจจุบันเสียงของโปงลางในวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ได้พัฒนาเป็น 7 เสียงและมีครึ่งเสียงมีระดับเสียงต่าง ๆ มากมาย ( ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์ , สัมภาษณ์ )
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
1. ปัจจัยทางเทคโนโลยี
ปัจจุบันการแสดงโปงลางมีอุปกรณ์การแสดงที่ทันสมัยเข้ามา เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วเร้าใจและสนุกสนาน ให้กับผู้ชมต่าง ๆ มากมาย จากเดิมที่มีการใช้เครื่องดนตรีที่มีเสียงเบา แต่ทุกวันนี้ก็ได้นำเอาเครื่องมือทางอีเล็คทรอนิคเข้ามาช่วย ทำให้เกิดการบรรเลงแบบการใช้ไฟฟ้าเข้ามาช่วย ระบบแสงเสียงนั้น สมัยก่อนการแสดงโปงลางตอนกลางคืนจะใช้ขี้ใต้ หรือที่เรียกว่า ไฟกระบอง ( เปลื้อง ฉายรัศมี ,สัมภาษณ์ ) จากนั้นพัฒนามาเป็นตะเกียงเจ้าพายุ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบเสียงก็ไม่เร้าใจ มีเพียงลำโพงฮอร์โมน 1 คู่ ไมโครโฟน 1 ตัว แต่ปัจจุบัน วงโปงลางมีระบบเสียงเหมือนวงดนตรีสากลทั่วไป มีลำโพงทั้งเสียงทุ้มแหลม เครื่องขยายเสียง หลายพันวัตต์ วางเรียงกันหลายชั้น ชุดไมโครโฟนหลายสิบตัว มีไฟหลายสีกะพริบ ระยิบระยับ และมีทั้งเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงและเพลงตามสมัยนิยม
2. ปัจจัยทางสังคม
วงโปงลางในภาคอีสานมีโอกาสที่จะได้พบปะสังสรรค์ หรือ ชมผลงานการแสดง ซึ่งกันและกัน ถ้าวงใดแสดงดี มีการทุ่มทุนปรับแต่งวงโดยใช้เทคโนโลยี ก็จะได้รับความนิยมสูง วงอื่น ๆ ที่ได้เห็นก็จะเอาเป็นแบบอย่าง เพื่อที่จะได้เอาไปปรับปรุงวงของตน หรือสังกัดของตนให้ดีขึ้นบ้าง วงโปงลางที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันก็มีหลายวงที่ทำเป็นอาชีพ เช่น วงหนุ่มมะพร้าวห้าวสาวดอกคูณ วงพิณแคนแดนอีสาน วงหนุ่มภูไท วงเทิดภูไท เป็นต้น
3. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของหมู่บ้านและประเทศชาติในปัจจุบันเป็นระบบการแลกเปลี่ยนโดยการใช้เงินเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้การดำเนินงานของอาชีพนักดนตรีกลายเป็นธุรกิจครบวงจร คือมีสำนักงานรับงาน มีนายทุนให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยหวังผลจากการโฆษณาสินค้า หรือผลตอบแทนจากการลงทุนจากการบริการการแสดง จึงต้องขยายออกไปเพื่อผลทางธุรกิจในช่วง ที่ว่างจากการแสดงหรือหมดงานตามบ้าน วงโปงลางจะออกเดินสายแสดงตามหมู่บ้านของคนอื่น โดยจะเก็บค่าผ่านประตูเพื่อที่จะเข้าไปชมการแสดงวงโปงลาง การแสดงโปงลางจึงเปลี่ยนจากการแสดงเพื่อความบันเทิงมาเป็นการแสดงเพื่ออาชีพ หรือการแข่งขันกันด้านอาชีพในรูปแบบความบันเทิงกึ่งธุรกิจเพื่อเงินรางวัล ( เปลื้อง ฉายรัศมี , สัมภาษณ์ )
สภาพสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่ออาชีพของชาวอีสาน
ชาวอีสานส่วนใหญ่ยังมีอาชีพในการทำนาเป็นหลักอยู่ หลังจากหมดฤดูทำนาการจะทำอาชีพรองซึ่งได้แก่ รับจ้าง ช่างไม้ ช่างเหล็ก หรือช่างฝีมือต่าง ๆ ชาวอีสานส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ก็จะอพยพไปทำงานในกรุงเทพฯ การจักสานอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น แห อวน สวิง ตะกร้า ฯลฯ ปัจจุบันจะทำน้อยลง เนื่องจากเครื่องใช้เหล่านี้ ทำจากโรงงานมาจำหน่าย และ ใช้แทนหัตถกรรมพื้นบ้านเหล่านี้
ส่วนข้าราชการหรือผู้มีเงินเดือนเป็นรายได้ประจำส่วนใหญ่ก็เพียงปลูกผักสวนครัวเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ส่วนพวกดนตรีพื้นบ้านโปงลางส่วนใหญ่จะมีอาชีพเสริมอย่างอื่นไปด้วย ซึ่งอาชีพเสริม มักเกี่ยวกับอาชีพหลักที่ทำอยู่ เช่น นายทุนที่เป็นหัวสำนักงาน หรือบ้านพัก นักดนตรีเหล่านี้ ก็จะมีเครื่องขยายเสียงสำหรับไว้บริการในสังกัดสำนักงานของตน พวกนักดนตรีหรือศิลปินส่วนหนึ่งจะยึดการแสดงเป็นอาชีพ โดยเมื่อหมดงานเทศกาลแล้วก็แสดงตามหมู่บ้าน และเก็บค่าผ่านประตูเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแทนอาชีพทำนาแบบดั้งเดิม
การได้รับความนิยมของวงโปงลางมีอิทธิพลที่เข้ามามีส่วนร่วมต่าง ๆ ด้วยกระแส วัฒธรรมต่างชาติได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยของเราอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการคมนาคม การสื่อสารสะดวกรวดเร็วตามยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งทำให้มีผลต่อเครื่องดนตรีออกต่อสู่มวลชน และมีผลทำให้การแสดงวงดนตรีโปงลางพื้นบ้านอีสานมีอิทธิพลต่าง ๆ เช่น ความแตกต่างของ วงโปงลาง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมต่างชาติ
อิทธิพลทางวัฒนธรรมของชาวต่างชาติที่มีผลต่อเครื่องดนตรี เครื่องดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านอีสานเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่นซี่งได้แก่ พิณ แคน โปงลาง แต่เครื่องดนตรี ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของต่างชาติจะใช้ กีตาร์ คีย์บอร์ด เซ็กโซโฟน เล่นบรรเลงแทนใน
ปัจจุบันก็มักจะเห็นได้ตามงานต่าง ๆ และได้รับความนิยมชมชอบพอสมควร ซึ่งอาจจะทำให้
เครื่องดนตรีดังกล่าวถูกทอดทิ้ง
อิทธิพลทางวัฒนธรรมของชาวต่างชาติที่มีผลต่อการแสดงพื้นบ้านอีสานวงดนตรีโปงลาง ปัจจุบันการแสดงที่เป็นศิลปะพื้นบ้านจะใช้เทคโนโลยีจากอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติมาใช้และเกิดการยอมรับของผู้ชมการแสดง ได้แก่ วงดนตรีพื้นบ้าน หมอลำเรื่องต่อกลอนลำเพลิน ลำซิ่ง ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งลิเกในปัจจุบันยังใช้กลองชุด ใช้ระบบไฟแสงสีเหมือนการแสดงคอนเสิร์ตของชาวต่างชาติ ซึ่งอาจจะทำให้ติดเป็นนิสัยที่หลงไหล แสง สี เสียง และลืมค่านิยมวัฒนธรรมของชาวไทยก็อาจเป็นได้
อิทธิพลทางวัฒนธรรมของต่างชาติที่มีค่าความภูมิใจความรักหวงแหนใน เพลงพื้นบ้าน จะสังเกตุเห็นได้โดยทั่วไปว่าคนไทยไม่นิยมการซื้อเทปวีดีโอเพลงพื้นบ้าน หรือ แม้แต่เครื่องดนตรีพื้นบ้านก็ยังไม่ค่อยถือไปมา เมื่อเปรียบเทียบกับกีตาร์หรือเครื่องดนตรีสากล อื่น ๆ ส่วนเพลงพื้นบ้านนั้นที่พอได้รับความสนใจจากคนบ้างก็จะต้องเป็นเพลงที่มีการประยุกต์เป็นเพลงลูกทุ่ง หรือเพลงลูกกรุงที่มีเครื่องดนตรีสากลมาบรรเลงอยู่ด้วย และมีทำนองสลับกันระหว่างทำนองสากลเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เป็นทำนองพื้นบ้านแท้ ๆ นั้นยากที่จะได้รับความนิยม

บทที่ 5 บทสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ
ดนตรี หมายถึง เครื่องบรรเลงที่มีเสียงทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ทำให้อารมณ์คล้อยตามเสียงที่เกิดขึ้นเป็นทำนองโดยเกิดจากการเรียบเรียงเสียงที่มีระบบ ระเบียบ เป็นศิลปะแห่งการผลิตเสียงอันไพเราะที่มีองค์ประกอบเป็นทำนอง จังหวะ เสียงประสาน ทำนองสอดแทรก เสียงดนตรีที่นำมาเรียบเรียงเป็นทำนองโดยเสียงประสานต้องสอดคล้องกับจังหวะและทำนองอย่างกลมกลืนและมีระบบโดยต้องอาศัยความชำนาญ ประสบการณ์และหลักทางทฤษฎีมาปฏิบัติ
ดนตรีพื้นบ้าน หมายถึง ดนตรีที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของชาวบ้านที่นำเอาวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี ตามภูมิปัญญาของตน เพื่อความบันเทิงและ ตอบสนองต่อความต้องการของตน ดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิมจะเป็นเพียงการขับร้อง แต่ต่อมาชาวบ้านได้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีขึ้นมาเพื่อใช้บรรเลงประกอบการขับร้องนั้น ดนตรีพื้นบ้านอีสาน เป็นดนตรีที่เกิดขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ของชาวอีสานในการนำเอาวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาคิดประดิษฐ์ทำเป็นเครื่องดนตรี สำหรับใช้ประกอบการขับร้องแบบดั้งเดิมเพื่อความบันเทิงและความเชื่อของตน
กลุ่มเพลงที่ใช้นำการแสดงวงโปงลาง สามารถแบ่งเพลงออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้
1. กลุ่มเพลงจังหวะช้า เป็นเพลงที่มีลักษณะการบรรเลงที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จะเน้น
ที่จังหวะของกลองหาง โดยจะบรรเลงต่อจากการแนะนำเครื่องดนตรี เช่นการแนะนำโปงลางและต่อการบรรเลงด้วยเพลงที่มีอัตราจังหวะที่ช้า ไพเราะ แต่แฝงไปด้วยความเศร้าสร้อยเป็นส่วนมาก
2. กลุ่มเพลงจังหวะปานกลาง เป็นเพลงที่มีจังหวะกระชับขึ้นมาอีกจังหวะหนึ่ง โดย
ส่วนมาจะใช้จังหวะกลองหางที่เป็นจังหวะลำเพลิน และจังหวะชะชะช่า แต่จะไม่เร็วมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเพลงจำพวก เต้ยหรือเซิ้ง
3. กลุ่มเพลงจังหวะเร็ว เป็นเพลงที่มีจังหวะ สนุกสนาน คึกคัก กระชับและรวดเร็ว
โดยส่วนใหญ่จะใช้กลองหางและจังหวะของพิณเบสเป็นจังหวะกำหนดความเร็วของจังหวะ ลำเพลินเป็นส่วนใหญ่แต่สำหรับจังหวะชะชะช่าก็มีอยู่บ้าง ในเพลงที่เป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ เช่น ลูกทุ่งหรือหมอลำต่าง ๆ
เครื่องดนตรีในภาคอีสาน เป็นเครื่องดนตรีที่มีการบรรเลงครบทุกกลุ่ม ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีต่าง ๆ ดังนี้
1. เครื่องดีด ได้แก่ พิณ พิณเบส
2. เครื่องสี ได้แก่ ซอบั้ง ซอกระป๋อง
3. เครื่องตี ได้แก่ โปงลาง กลองหาง
4. เครื่องเป่า ได้แก่ โหวด แคน

หน้าที่ของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด
เครื่องดีด
พิณ เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้นำวงโปงลาง โดยดีดเป็นทำนองหลักหรือทำนองย่อยก็ได้
พิณเบส หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเบสพื้นบ้านเป็นตัวทำจังหวะให้กับวง โดยอาศัยลูกตกของจังหวะของทำนองเพลง

เครื่องสี
ซอบั้ง เป็นเครื่องดนตรีที่ทำหน้าที่สอดแทรกสำเนียงของเพลง การขึ้นเพลง หรือการสอดแทรกทำนองสั้น ๆ

เครื่องเป่า
แคน เป็นเครื่องดนตรีที่ทำจังหวะและทำนองได้ในตัวเดียวกันผู้บรรเลงจะนิยมเป่าเป็นทำนองสลับการกับจังหวะ และส่วนใหญ่จะเป่าแคนเกริ่นเป็นลายต่าง ๆ ความพิเศษของแคนนี้สามารถเป่าออกเป็นเสียงประสานได้

เครื่องตี
โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอกของวง เวลาตีมีเสียงดังกังวาล ลักษณะคล้ายกันกับระนาด แต่จะแขวนเสียงต่ำไว้ด้านบนสุด มีเสียงไพเราะ
กลองหาง เป็นเครื่องดนตรีที่ทำจังหวะ โดยมีจังหวะพื้นฐานย่อยแยกออกไปอีก 6 จังหวะ คือ
จังหวะภูไท เป็นจังหวะที่ช้าใช้ตีประกอบเพลงภูไท ส่วนใหญ่ใช้ขึ้นเพลง
จังหวะมวยโบราณ เป็นจังหวะที่ใช้ตีประกอบการบรรเลงหรือการแสดงประกอบเพลงมวยโบราณเท่านั้น
จังหวะมโหรีอีสาน เป็นกลุ่มเพลงจังหวะช้าเช่นกันใช้เฉพาะในเพลงมโหรีอีสานเท่านั้น
จังหวะเซิ้ง ใช้ตีเพลงที่เป็นจังหวะเซิ้ง และสามารถเปลี่ยนเป็นจังหวะเร็วได้โดยจากการส่งกลองหางให้เร็วขึ้นและออกไปเป็นจังหวะลำเพลิน
จังหวะลำเพลิน เป็นจังหวะที่สนุกสนาน คึกคัก รวดเร็วใช้บรรเลงในเพลงจังหวะลำเพลิน
จังหวะชะชะช่า เป็นจังหวะที่นำเข้ามาประยุกต์บรรเลงกับ วงโปงลางได้ในไม่นานโดยส่วนใหญ่จังหวะชะชะช่าจะใช้บรรเลงกับเพลงลูกทุ่งหรือเพลงหมอลำ ที่แต่งขึ้นมาใช้กับวงโปงลางไม่นานนี้เอง

ลักษณะเพลงพื้นบ้านอีสานโดยทั่วไป
1. ไม่ทราบนามผู้แต่ง
2. นักดนตรีไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมในการแต่งเพลง
3. ดนตรีมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน
4. เป็นการแสดงออกทางดนตรีของคนส่วนใหญ่
5. เป็นดนตรีที่มีอายุเก่าแก่
6. เป็นดนตรีที่สืบทอดด้วยความจำ
7. มีการเปลี่ยนแปลงจังหวะและทำนองของดนตรีอยู่ตลอดเวลา
8. ไม่มีใครทราบว่าทำนองเดิมเป็นอย่างไร
จากการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ที่เป็นเอกสารจากแหล่งข้อมูลและการสัมภาษณ์ อาจารย์ นักเรียน ลูกศิษย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงดนตรีพื้นบ้านอีสานวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ผู้ศึกษาได้พยายามนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับมาวิเคราะห์ เรียบเรียง โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องของ รายละเอียดของวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน โปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ เกี่ยวกับการก่อตั้ง วงดนตรี ลักษณะของการถ่ายทอดความรู้และวิธีการเล่น หลักการในการจัดวง การฝึกฝนของ นักดนตรี นอกจากนี้ยังได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูล วงโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ได้มีการแสดงมาจนมีชื่อเสียงในปัจจุบัน

วงดนตรีพื้นบ้านอีสานวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2528 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มีคำสั่งเชิญให้ นายเปลื้อง ฉายรัศมี มาทำการสอน และเผยแพร่ดนตรีให้กับวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ในสาขาดนตรีพื้นบ้านอีสาน ในการจัด วงดนตรีโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ โดยนำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน เช่น พิณ โปงลางแคน โหวด กลองหาง พิณเบส และเครื่องดนตรีประกอบจังหวะมาทำการร่วมบรรเลง รวมวง ลายดนตรีด้วยกัน ในลักษณะที่มีการพัฒนามากขึ้น คือมีการใช้หลักของเครื่องขยายเสียงเข้ามาช่วยในอุปกรณ์บางประเภท ทำให้การบรรเลงโดยรวมมีความไพเราะสนุกสนานมากขึ้น

ในการถ่ายทอดความรู้ในวงดนตรีโปงลางนั้น สาขาวิชาดนตรีพื้นบ้านจัดเป็นสาขาหนึ่งที่นักเรียนสามารถเลือกศึกษาได้ วิธีการเรียนการสอนจะอาศัยในเรื่องของการผสมผสาน วิธีการดั้งเดิมและมีวิธีสมัยใหม่ โดยเริ่มแรกนักเรียนต้องเรียนรู้ในทฤษฎีพื้นฐานต่าง ๆ ของอุปกรณ์แต่ละชนิด รวมทั้งลายเพลงและจังหวะแบบต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งลายเพลงนั้นในขั้นต้น จะอาศัยการท่องจำเป็นส่วนใหญ่ เมื่อนักเรียนได้เรียนในทางด้านทฤษฎีได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะดำเนินการฝึกในการปฏิบัติ และแยกขั้นตอนการเรียนออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง ระดับสูง เมื่อนักเรียนเรียนรู้วิธีปฏิบัติได้แล้วก็จะทำการฝึกบรรเลงร่วมกัน จนถึงขั้นบรรเลงประกอบกับการแสดงนาฏศิลป์ได้
ปัจจุบันดนตรีพื้นบ้านอีสาน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเป็นอย่างมาก แต่ ภาพลักษณ์ของวงดนตรีพื้นบ้านอีสานจะออกมาในลักษณ์ที่เป็นภาพลบเป็นส่วนมาก เช่นในเรื่องของการแสดงหมอลำซิ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลของตะวันตกมากจนทำให้ดนตรีพื้นบ้านของอีสาน ด้อยค่าลง ด้วยเหตุนี้วงโปงลางของวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์จึงเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์ที่ดีในการเลือกปฏิบัติ การที่จะผสมผสานอิทธิพลของวัฒนธรรมที่เข้ามาแล้วทำให้ดนตรีของอีสาน ดูสูงค่ามากขึ้น ยังรวมไปถึงเรื่องของการสืบทอดต่อไปยังลูกหลานอีกด้วย ซึ่งควรอนุรักษ์ไว้ เป็นแบบอย่างของวงดนตรีพื้นบ้านอีสานทั่วไป
ข้อเสนอแนะ

จากการวิจัยวิเคราะห์วงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ในครั้งนี้ผู้วิจัยเห็นว่ามีแนวทางที่จะศึกษาค้นค้วาวิจัยเพิ่มเติมออกไปได้อีก
1. การศึกษาวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ในแง่ของการวิเคราะห์จากภาพลักษณ์ของวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน
2. ในด้านศิลปะการแสดงโดยรวมไปถึงการบรรเลงรวมวงได้ศึกษาเกี่ยวกับวงโปงลางและขนบธรรมเนียมประเพณีของจังหวัดกาฬสินธุ์
3. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเผยแพร่และความนิยมของ “ตลาดเพลง” ในปัจจุบัน
4. ศึกษาในเรื่องของความทันสมัยของการแสดงที่ได้รับความนิยม เช่น หมอลำซิ่ง และความทันสมัยของวงโปงลาง
5. ศึกษาถึงเรื่องการผสมผสานของดนตรีอีสานที่มาจากวัฒนธรรมตะวันตก
ปัจจุบันดนตรีพื้นบ้านอีสาน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเป็นอย่างมาก แต่ ภาพลักษณ์ของวงดนตรีพื้นบ้านอีสานจะออกมาในลักษณ์ที่เป็นภาพลบเป็นส่วนมาก เช่นในเรื่องของการแสดงหมอลำซิ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลของตะวันตกมากจนทำให้ดนตรีพื้นบ้านของอีสาน ด้อยค่าลง ด้วยเหตุนี้วงโปงลางของวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์จึงเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์ที่ดีในการเลือกปฏิบัติ การที่จะผสมผสานอิทธิพลของวัฒนธรรมที่เข้ามาแล้วทำให้ดนตรีของอีสาน ดูสูงค่ามากขึ้น ยังรวมไปถึงเรื่องของการสืบทอดต่อไปยังลูกหลานอีกด้วย ซึ่งควรอนุรักษ์ไว้ เป็นแบบอย่างของวงดนตรีพื้นบ้านอีสานทั่วไป

บรรณานุกรม
จารุบุตร เรืองสุวรรณ . ศิลปวัฒนธรรม .โรงพิมพ์พิฆเณศ : กรุงเทพฯ, 2535.
จารุวรรณ ธรรมวัตร.วัฒนธรรมพื้นบ้าน. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพฯ, 2536.
วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ . ทศวรรษวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ . ม.ป.ท : 2535.
บรรเทิง ชลช่วยชีพ คู่มือทฤษฎีและปฏิบัติการดนตรีสากล. พิมพ์ครั้งที่1สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์:
กรุงเทพฯ,2534.
ณรุทธ์ สุทธจิตต์ . กิจกรรมดนตรีสำหรับครู . สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย :
กรุงเทพฯ,2537.
สมนึก อุ่นแก้ว . ทฤษฎีดนตรีแนวปฏิบัติ . โรงพิมพ์ MUSIC: อุดรธานี, 2536

สัมภาษณ์
จันทนา โกศลศาสตร์ . สัมภาษณ์ , วันที่ 25 กรกฎาคม 2542.
นิตยา รังเสนา . สัมภาษณ์ , วันที่ 27 มิถุนายน 2542.
เปลื้อง ฉายรัศมี . สัมภาษณ์ , วันที่ 2 เมษายน 2542.
ราชันย์ ฉายรัศมี . สัมภาษณ์ , วันที่ 2 เมษายน 2542.
ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์ . สัมภาษณ์ , วันที่ 5 เมษายน 2542.

ภาคผนวก ก ตัวอย่างทำนองเพลงของวงดนตรีพื้นบ้านอีสานวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
ภาคผนวก ข ตัวอย่างรูปภาพเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานวงวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์

พิณพื้นบ้าน
พิณเบส
โปงลาง
กลองหาง
แคน
โหวด

ประวัติผู้ให้สัมภาษณ์
ชื่อนาย เปลื้อง ฉายรัศมี  ปัจจุบันอายุ 67 ปี เกิดวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2475
บิดาชื่อ คง ฉายรัศมี เป็นคนจังหวัด กาฬสินธุ์
มารดาชื่อ นาง ฉายรัศมี เป็นคนจังหวัด กาฬสินธุ์
ภรรยานายเปลื้อง ชื่อ นางยุพิน ฉายรัศมี
มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 3 คน เป็นบุตรชาย 2 คน บุตรหญิง 1 คน
บุตรคนที่ 1 ชื่อ นาย ราชันย์ ฉายรัศมี
บุตรคนที่ 2 ชื่อ นาย ชัชวาลย์ ฉายรัศมี
บุตรคนที่ 3 ชื่อ นางสาว สุวรรณี ฉายรัศมี
ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 229/4 ถนนเกษตรสมบูรณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและสอนพิเศษ วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
การศึกษาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ครูสอนดนตรีคนแรกคือ อาจารย์ ปาน เพชรบุรม และต่อจากนั้นก็ได้เรียนดนตรีต่อกับลูกชายของนายปาน และฝึกฝนดนตรีมาเองโดยตลอด
เครื่องดนตรีที่เล่นเครื่องแรกคือ โปงลาง โดยฝึกหัดมาตั้งแต่อายุ 11 ปี เครื่องดนตรีที่ชอบมากที่สุดคือ โปงลาง เครื่องดนตรีที่เล่นยากที่สุดคือ แคน
รางวัลที่ได้รับโดยที่ภูมิใจมากที่สุดคือ รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นสาขาวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้าน ( ศิลปินแห่งชาติ )

ชื่อนายราชันย์ ฉายรัศมี  ปัจจุบันอายุ 22 ปี
เกิดวันที่ 29 ตุลาคม 2520 ที่โรงพยาบาล นครพนม
สถานภาพโสด
บิดาชื่อ นายเปลื้อง ฉายรัศมี เป็นคนจังหวัดกาฬสินธุ์
มารดาชื่อ นางยุพิน ฉายรัศมี เป็นคนจังหวัดนครพนม
ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 229/4 ถนนเกษตรสมบูรณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
อาชีพ เป็นอาจารย์สอนพิเศษดนตรีพื้นบ้านอีสานที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด
การศึกษา – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่โรงเรียนโพนทองหามแห่ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
– ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
– ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จังหวัดกาฬสินธุ์
เริ่มเรียนดนตรีครั้งแรกกับ บิดาของตน คือ อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี โดยได้ฝึกโปงลางเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกเช่นเดียวกับบิดาของตน ฝึกหัดตั้งแต่ตอนอายุ 11 ขวบเท่านั้น และได้ฝึกดนตรีมาโดยตลอดและได้เข้าไปเป็นศิษย์ต่อที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จนจบการศึกษา

ชื่อนายทูลทองใจ ซึ่งรัมย์  ปัจจุบันอายุ 34 ปี
เกิดวันที่ 24 เมษายน 2508
บิดาชื่อ นายสนธิ ซึ่งรัมย์ เป็นคนจังหวัด บุรีรัมย์
มารดาชื่อ นางสุพล ซึ่งรัมย์ เป็นคนจังหวัด บุรีรัมย์
ภรรยาชื่อ นางวาสนา ซึ่งรัมย์ เป็นคนจังหวัดกาฬสินธุ์
มีบุตรด้วยกัน 2 คน
คนที่ 1 ชื่อ เด็กชายธนพล ซึ่งรัมย์
คนที่ 2 ชื่อ เด็กชายณัฐวัช ซึ่งรัมย์
ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 92 / 3 ถนนสนามบิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
อาชีพ รับราชการ
ประวัติการศึกษา – จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-7 ที่โรงเรียนบ้านหนองม่วง ตำบลทะเมนชัย
อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
– จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนลำปลายมาศ ตำบลทะเมนชัย
อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
– จบชั้นสูงที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด ตำบลในเมือง อำเภอเมือง
จังหวัดร้อยเอ็ด รุ่นที่ 3
– จบปริญญาตรี ด้านเทคโนโลยีการศึกษาที่ ราชภัฎมหาสารคาม
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่อายุ 15 ปี
ครูดนตรีคนแรกที่สอนคืออาจารย์ ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ อาจารย์ที่สอนแคน คือ
อาจารย์ ทองคำ ไทยกล้า
เครื่องดนตรีที่ฝึกเป็นเครื่องแรกคือ โหวด
รางวัลที่ได้รับคือ รางวัลชนะเลิศการเป่าโหวด ที่งานกาชาดในงานมหกรรมผ้าแพรวากาฬสินธุ์

ชื่อนางสาวนิตยา รังเสนา  ปัจจุบันอายุ 33 ปี
เกิดวันที่ 4 ตุลาคม 2509
บิดาชื่อ นายพรหมมา รังเสนา
มารดาชื่อ นางสมหวัง รังเสนา
มีพี่น้อง 9 คน
ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 49/124 หมู่บ้านสัมมากร ถนนนิมิตใหม่ คลองสามวา กรุงเทพฯ 10510
อาชีพ – เป็นครูสอนนาฏศิลป์ที่นาฏศิลป์นิยา
– เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ประวัติด้านการศึกษา
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนหลักเมือง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคราม
ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนผดุงนารี อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคราม
ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย วิทยาลัยนาฏศิลป์ ( นาฏศิลป์ชั้นกลาง ) อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
ชั้นอุดมศึกษา วิทยาลัยครูมหาสารคราม อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
ปริญญาโท มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน กรุงเทพฯ
ครูสอนดนตรีคนคือ อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี อาจารย์ทองคำไทยกล้า
เรียนดนตรีครั้งแรกเมื่ออายุ 16 ปี
เครื่องดนตรีที่ชอบคือ โปงลาง
รางวัลที่ภาคภูมิใจ
– รางวัลศิษย์ดีเด่น ที่วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2533
– รางวัลพระพิฆเณศร์ทองคำ ด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน พ.ศ. 2541

ชื่อนางสาวจันทนา โกศลศาสตร์  ปัจจุบันอายุ 31 ปี
เกิดวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512
บิดาชื่อ นาย สมพจธัต โกศลศาสตร์
มารดาชื่อ นาง รัญจวน โกศลศาสตร์
มีพี่น้อง 4 คน ชาย 1 คน หญิง 3 คน
ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 49/48 เซ็นจูรี่ปารค์คอนโด ตึก C ชั้น S . ถนนวิภาวดี แขวง ลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
การศึกษา
– ระดับประถมศึกษาปีที่ 1- 6 โรงเรียนเทศบาล 1 อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
– ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น- ตอนปลาย ม. 1- ม. 6 วิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์
– ระดับปริญญาตรีที่ วิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพฯ กรมศิลปากร
ปัจจุบันทำงานที่ เวิลด์โพน ช๊อป
เรียนโปงลางเป็นเครื่องมือแรก กับอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี
เรียนดนตรีครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี
เครื่องดนตรีที่ชอบที่สุดคือ โหวต

รับแสดงดนตรีสี่ภาค ดนตรีพื้นบ้านอีสาน ( วงโปงลาง + รำพื้นบ้านอีสาน ) ดนตรีไทย ( บรรเลง ) และรับจัดการแสดงดนตรีตามงานต่างๆ รับสอนดนตรีอีสาน ดนตรีไทย เครื่องดนตรี เช่น พิณ แคน โหวด โปงลาง กลองยาวอีสาน และสอนดีดไหซอง ระนาด ขิม จะเข้ ฆ้องวงใหญ่ กลองแขก ขลุ่ยไทย โทน รำมะนา ระนาดทุ้ม เครื่องประกอบจังหวะ
ติดต่อได้ที่ คุณ ภราดร สาขามุละ กรุงเทพมหานคร , สมุทรปราการ โทร. 089-1232339
อีเมล์: sakamula@hotmail.com